ประชาธิปไตย ความรู้ฉบับพกพา: ประชาธิปไตยคืออะไร คำตอบคือไม่รู้
ประชาธิปไตย ความรู้ฉบับพกพา: ประชาธิปไตยคืออะไร คำตอบคือไม่รู้
จักรพล ผลละออ
10 พฤศจิกายน 2567
ผมหยิบหนังสือเล่มนี้มาเปิดอ่านเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาและอ่านมันจบลงได้อย่างรวดเร็ว แม้จะต้องใช้พลังงานในการอ่านไม่น้อย ด้วยความที่ผู้เขียนคือ Bernard Crick นั้นเป็นนักรัฐศาสตร์มนุษย์นิยม และให้ตายเถอะ ผมแพ้ทางการอ่านในแนวมนุษย์นิยมอย่างมาก แต่กระนั้นผลงานการแปลและเรียบเรียงโดยคุณ อธิป จิตตฤกษ์ ก็ช่วยให้การอ่านนังสือเล่มนี้ไม่ได้โหดหินมากนัก
หนังสือเล่มนี้แปลและตีพิมพ์ครั้งแรกช่วงปี 2559 หลังเหตุการณ์คุกรุ่นทางการเมืองไทยหลายครั้ง ทั้งการรัฐประหาร 2549 เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 และการรัฐประหาร 2557 ที่บรรยากาศในสังคมช่วงนั้นถกเถียงกันอย่างหนักว่าด้วยปัญหาประชาธิปไตย ขณะที่ต้นฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 2002 หลังเหตุการณ์ 9/11 เพียง 1 ปี
ในครั้งแรกที่หยิบมาอ่านผมยืนพื้นด้วยความสงสัยใคร่รู้ว่าสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” นั้นคืออะไร มันเป็นคำง่ายๆ ที่อยู่รอบตัวเราเกือบตลอดเวลาสำหรับคนที่สนใจการเมือง หรือต่อให้ไม่สนใจการเมืองคุณก็หนีไม่พ้นคำนี้อยู่ดี หากแต่ดูเหมือนว่าเราแทบไม่รู้จักมันเลย เราแทบไม่รู้ความหมายจริงๆ ของมันสักนิดและบ่อยครั้งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหรือปมปัญหาทางการเมือง มันก็ทำให้ผมเกิดคำถามหลายครั้งว่าการกระทำแบบนี้มันเป็นประชาธิปไตยหรือถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยหรือไม่?
ดังนั้นเมื่ออ่านจบ ผมจึงอยากเขียนสรุปและเล่าเรียงถึงเนื้อหาที่ผมได้รับมา ว่ามันจะช่วยตอบคำถามที่ค้างคาใจผมได้หรือไม่ หรือว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยเป็นบันไดขั้นแรกไปสู่การหาคำตอบจากหนังสือเล่มอื่นๆ เพิ่มเติม
บทที่ 1: ถ้อยคำและการกระทำ
เนื้อหาในบทแรกรวมถึงบทนำของหนังสือเล่มนี้ เริ่มต้นตามขนบพื้นฐานทั่วไปด้วยการพาเราไปพบกับรากทางภาษาของคำว่า “ประชาธิปไตย” แต่มันก็ไม่ได้น่าเบื่อราวกับตำราเรียน อย่างที่พวกเราทราบกันดีรากฐานของคำว่าประชาธิปไตยมาจากกรีก ในคำว่า dēmokratía ซึ่งมาจากการผสมคำ 2 คำคือ dēmos (ประชาชน) กับ kratos (การปกครอง) อันรวมกันแล้วหมายถึง “การปกครองของประชาชน”
อย่างไรก็ตามเนื้อหาถัดจากนั้น Bernard ได้พาเราย้อนกลับไปสำรวจถึงสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ในหลากหลายแง่มุม ประการแรกสุดคือเราพูดถึงคำๆ นี้ในความหมายที่ครอบรวมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเชื่อว่ามันเป็นสิ่งดี หรืออย่างน้อยที่สุดคือความเชื่อว่าอะไรก็ตามที่มีคำว่าประชาธิปไตยด้วยย่อมเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งในด้านหนึ่งก็หมายถึงว่าคำนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งดีงานแบบหนึ่งในทางการเมืองหรือการปกครอง และนั่นคือเหตุผลว่าหลายครั้งคำว่า “ประชาธิปไตย” จึงถูกแย่งชิงและปรับเปลี่ยนความหมาย จนหลายครั้งพวกเราเองก็ยังคงต้องทุ่มเถียงกันด้วยคำถามพื้นฐานที่ยากแก่การหาคำตอบว่า “อะไรคือประชาธิปไตยที่แท้จริง?”
แน่นอนว่า Bernard ไม่ได้ตอบคำถามว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร เช่นเดียวกับที่หนังสือเล่มนี้ก็ไมได้ตอบคำถามนั้น แต่คำตอบกลับกลายเป็นอีกแบบคือ “มันไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง” และยิ่งไปกว่านั้นเอง เขาเสนอว่าประชาธิปไตยเท่าที่รับรู้กัน ถูกใช้ได้ในหลากหลายแง่มุมมากกว่าที่เราจะคิดกัน อย่างน้อยที่สุดคือ ประชาธิปไตยมีเรื่องราวที่แตกต่างกัน 3 รูปแบบที่เรามักพูดถึงมันราวกับเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด คือ (1) ประชาธิปตยในฐานะของหลักการหรือการปกครอง (2) ประชาธิปไตยในฐานะของการจัดวางสถาบันต่างๆ และกลไกตามรัฐธรรมนูญ และ (3) ประชาธิปไตยในฐานะของรูปแบบพฤติกรรม
บทที่ 2: จุดเริ่มต้นของเรา
เมื่อใดก็ตามที่กล่าวถึงประชาธิปไตยในแง่ประวัติศาสตร์ สิ่งที่เราจะนึกถึงก็คือ “สังคมกรีกโบราณ” ในฐานะของต้นกำเนิดของประชาธิปไตย หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือต้นกำเนิดของข้อความคิดและชื่อเรียกระบอบการปกครองที่ชื่อว่าประชาธิปไตย แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นจริง ประชาธิปตยในยุคกรีกโบราณ ก็เป็นคนละเรื่องและแตกต่างอย่างยิ่งกับประชาธิปไตยที่เราคุ้นเคยและ (เราคิดว่า) รู้จักมันเป็นอย่างดีในปัจจุบัน
อันที่จริงนักปรัชญาชื่อดังในยุคนั้นอย่าง “เพลโต” มองระบอบประชาธิปไตยหรือการปกครองโดยประชาชนเป็นสิ่งที่เลวร้ายเสียด้วยซ้ำ Bernard ชี้ให้เราเห็นว่าสำหรับเพลโตแล้วการปกครองที่ดีควรเป็นการปกครองที่ยืนพื้นบนความรู้ ไม่ใช่ความเห็น ในขณะที่การปกครองโดยประชาชนนั้นเป็นการปกครองที่ใช้ความเห็นเป็นหลัก มันคือการปกครองที่ถูกกำหนดทิศทางโดยความเห็นของคนส่วนใหญ่ของสังคม ซึ่งไม่ได้รับการศึกษา ขาดความรู้ และมีแนวโน้มจะหลงทิศหลงทางได้ง่ายถึงขนาดที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับตนเองอย่างแท้จริง การปกครองโดยประชาชนจึงถูกมองอย่างหยามเหยียดในฐานะของการปกครองโดย “ฝูงชน” ในความหมายเชิงลบ อันหมายถึงกลุ่มที่บ้าคลั่ง ไร้เหตุผล และเจ้าคิดเจ้าแค้น
เป็นที่ชัดเจนว่าระบอบการปกครองในฝันของเพลโตคือระบอบแบบราชาปราชญ์ ที่ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำการปกครองบนหลักของเหตุผลและผล ปกครองด้วยความรู้และวิจารณญาณอย่างที่สุด ซึ่งในภาพหลังก็พบแล้วว่าไม่เป็นจริง ยิ่งไปกว่านั้นผู้ทรงอำนาจจำนวนมากในยุคสมัยนั้นมีแนวโน้มจะลื่นไถลไปสู่การเป็นทรราชย์ (Tyranny) หรือเป็นระบอบคณาธิปไตย (Oligarchy) หรือ ธนาธิปไตย (Plutocracy) เสียมากกว่า และลงท้ายที่สุดแล้วมันหันกลับมาคุกคามความเป็นเสรีของพลเมือง
นอกจากเรื่องของมุมมองความคิดที่แตกต่างกันแล้ว ในแง่ของระบอบการปกครองก็มีความแตกต่างอยู่มาก การปกครองโดยประชาชนหรือประชาธิปไตยกรีกโบราณไม่ได้ยืนบนพื้นฐานของความเสมอภาค หากแต่จำกัดวงเฉพาะบางกลุ่มคนในสังคมเท่านั้น มีแต่เพียงผู้ชายชาวกรีกที่เสียภาษีจนถึงระดับหนึ่งเท่านั้นที่จะถูกนับเป็นพลเมือง ซึ่งมีสิทธิเสียงทางการเมือง ในขณะที่บรรดาทาส, คนต่างชาติ และผู้หญิง แม้จะอาศัยอยู่ในนครรัฐกรีกก็ไม่ได้มีสิทธิเสียงใดๆ ในทางการเมือง
ขณะที่ “อริสโตเติล” ลูกศิษย์ของเพลโตนั้นมองต่างไป อย่างน้อยที่สุดเขายอมรับว่าระบอบการปกครองเท่าที่มีอยู่ในยุคนั้น 3 รูปแบบคือ (1) ราชาธิปไตย (2) อภิชนาธิปไตย (Aristocracy) และ (3) การปกครองโดยประชาชน ในทั้ง 3 แบบนี้ (3) ดูจะเป็นทางเลือกที่เลวน้อยที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่เลิศเลอเสียทีเดียว ดังนั้นสำหรับอริสโตเติลแล้วเขาเห็นว่าทางสายกลางที่ดีที่สุดคือการปกครองโดยกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถ ตามอย่างอภิชนาธิปไตย แต่การปกครองนี้ก็ต้องมาพร้อมกับความยินยอมพร้อมใจของคนส่วนใหญ่ตามหลักการปครองโดยประชาชน ข้อเสนอนี้ฟังดูคล้ายกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ที่เราคุ้นชินกันในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามชาวกรีกโบราณนั้นเชื่อว่าระบอบการปกครองเช่นนี้จะดำรงอยู่ได้ก็เฉพาะแต่ในชุมชนหรือนครขนาดเล็กเท่านั้น ตลอดช่วงเวลาของกรีกโบราณเราจึงได้พบกับการแบ่งแยกเป็นนครรัฐต่างๆ ที่ปกครองกันเองภายใน (แม้ว่าในเอเธนส์ช่วงที่รุ่งเรืองมากๆนั้นจะมีผู้มีสิทธิ์ทางการเมืองนับหมื่นคนและคนอาศัยในเมืองถึงระดับแสนคนก็ตาม) มากกว่าจะได้เห็นการแผ่ขยายการปกครองโดยประชาชนให้ครอบคลุมหลายนครรัฐ เหมือนที่เราจะพบในอารยธรรมของโรมันในยุคถัดมา
อารยธรรมโรมันสืบทอดหลายสิ่งหลายอย่างภายใต้อิทธิพลทางความคิดมาจากกรีกโบราณ หากแต่พวกเขาไม่เรียกระบอบการปกครองของตนเองว่าเป็น “การปกครองโดยประชาชน” แม้เนื้อหาสาระจะคล้ายกันก็ตาม พวกเขาเรียกขานมันว่าเป็นระบอบ “สาธารณรัฐนิยม”
ในขณะที่ประชาธิปไตยแบบกรีกขีดเส้นแบ่งไว้ที่ชุมชนทางการเมืองขนาดเล็ก ผูกติดกับความเป็นเชื้อชาติและนครรัฐ สาธารณรัฐนิยมแบบโรมันกลับเปิดกว้างมากกว่า แต่ไม่ใช่แบบที่ผู้อ่านคิดแน่นอน มันไม่ได้ให้สิทธิทางการเมืองกับทาส หรือผู้หญิง เพียงแต่เปิดกว้างให้แก่คนต่างชาติ ต่างศาสนา ได้เข้ามามีส่วนร่วมและสามารถเป็นพลเมืองของโรมันได้หากคุณเคารพและศรัทธาต่อสาธารณรัฐ นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สาธารณรัฐโรมันขยายอิทธิพลออกไปยังดินแดนต่างๆ ได้กว้างขวางผ่านการเผยแพร่อารยธรรมแบบสาธารณรัฐ หรือหากให้เรียกอย่างง่ายขึ้นก็คือการกลืนกินชาติอื่นๆ นั่นเอง
และเมื่อดินแดนอาณาเขตของสาธารณรัฐโรมันขยายตัวออกไป เครือข่ายการปกครองของมันจึงมีความสลับซับซ้อนตามไปด้วย องค์กรทางการเมืองและการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจต่างๆ ในลักษณะของตัวแทนปวงชนเริ่มปรากฎให้เห็นชัดเจนขึ้นก็ในช่วงของสาธารณรัฐโรมันนี้เอง ในขณะที่ประชาธิปไตยแบบกรีกโบราณเน้นประชาธิปไตยทางตรงที่พลเมืองต้องเข้ามามีส่วนร่วม ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐนิยมของโรมันก็วิ่งไปหาประชาธิปไตยแบบผู้แทน หากจะมีเรื่องใดที่ทั้งสองอารยธรรมดังเดิมเห็นคล้ายกันนั้นคือสิทธิทางการเมืองไม่ใช่สิทธิแบบเสมอภาค หากแต่เป็นิส่งที่คู่ควรเฉพาะแก่พลเมืองที่อุทิศตนและมอบเวลาให้แก่การมีส่วนร่วมทางการเมือง มันเป็นเสมือนหน้าที่หรือรางวัลสำหรับผู้ที่พลีกายถวายตัวให้แก่นครรัฐ หรือสาธารณรัฐเท่านั้น รากฐานของประชาธิปไตยในยุคเริ่มต้นของเราจึงมีที่มาจากหน้าที่ที่พลเมืองมีต่อรัฐหรือสังคม มากกว่าจะเป็นเรื่องหลักการโดยทั่วไป
บทที่ 3: สาธารณรัฐนิยมและประชาธิปไตย
คำว่าประชาธิปไตย, การปกครองโดยพลเมือง หรือสาธารณรัฐนิยม หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ หลังการเปลี่ยนสาธารณรัฐโรมันให้กลายไปเป็นจักรวรรดิโรมัน และยิ่งหลบเร้นหายไปอีกเนิ่นนานเมื่อจักรวรรดิโรมันแตกและล่มสลาย โลกตะวันตกก้าวเข้าสู่ยุคมืดและยุคกลาง กว่าที่ความคิดเรื่องการปกครองโดยประชาชนจะปรากฏขึ้นอีกครั้งก็ช่วงกลางศตวรรษที่ 17
อาจมีบางท่านสงสัยว่า แล้ว “มหากฎบัตรแมกนา คาร์ตา” ในอังกฤษ ช่วงต้นศตวรรษที่ 13 ล่ะ เป็นเรื่องชัดเจนอย่างยิ่งว่ามหากฏบัตรนี้มีอิทธิพลอย่างมาก แต่ในหนังสือเล่มนี้ Bernard แทบไม่ได้กล่าวถึงมันเลย และอันที่จริงโดยตัวมันเองแล้วมหากฏบัตรนี้แทบไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าข้อตกลงหรือสนธิสัญญาระหว่างกษัตริย์แห่งเกาะอังกฤษ กับบรรดาขุนนางชนชั้นสูงบนเกาะอังกฤษ ที่ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าเป็นตัวแทนของปวงชนทั้งหลาย ทั้งที่จริงแล้วพวกเขาไม่ได้เป็นตัวแทนของใครเลย
แต่ถึงอย่างนั้นมหากฏบัตรนี้ก็กลายเป็นเหมือนรากฐาน เป็นเหมือนประตูบานแรก หรือบันไดขั้นแรกที่เปิดทางไปสู่การวางรากฐานให้แก่ระบอบการปกครองของอังกฤษในยุคต่อๆ มา ความคิดเรื่องสาธารณรัฐนิยมกลับขึ้นมาอีกครั้งในช่วงศตวรรษที่ 17 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในอังกฤษ ระหว่างฝ่ายกษัตริย์ กับฝ่ายรัฐสภา และจบลงด้วยการที่โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ สถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นช่วงเวลาหนึ่งบนเกาะอังกฤษ ในช่วงเวลานั้นอังกฤษมีรัฐสภาแล้วก็จริงแต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีสิทธิทางการเมือง ความคิดเรื่องสิทธิทางการเมืองยังคงจำกัดอยู่ในวงเฉพาะของชายผู้ซึ่งเสียภาษีถึงเกณฑ์เท่านั้น อย่างไรก็ดีเกิดข้อถกเถียงที่สำคัญหนึ่ง และหนึ่งในทหารในกองทัพของครอมเวลล์เองที่เป็นผู้เสนอเรื่องนี้ขึ้นมา โดยสรุปทหารหนุ่มผู้นี้เสนอว่าพวกเขาซึ่งสละเลือดเนื้อและชีวิตสู้รบให้แก่รัฐควรจะต้องมีสิทธิทางการเมืองเช่นกัน และสิทธิทางการเมืองนี้ควรเป็นสิทธิที่ติดตัวพวกเขามาแต่เกิดไม่ต่างกันจากพวกชนชั้นขุนนางทั้งหลาย ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันเป็นครั้งแรกๆ ที่เสนอความคิดซึ่งท้าทายระเบียบดั้งเดิมแบบสาธารณรัฐนิยม ที่เห็นว่ามีแต่เพียงผู้ที่เสียสละ มีการศึกษา และทุ่มเทเวลาให้แก่สาธารณรัฐเท่านั้นที่คู่ควรแก่สิทธิทางการเมืองซึ่งในอีกเกือบหนึ่งชั่วอายุคนถัดมาความคิดนี้จะขยายออกไปและลงหลักปักฐานกลายเป็นข้อความคิดใหม่ทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนความท้าทายและแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของความคิดแบบสาธารณรัฐนิยม คือเหตุการณ์ “ปฏิวัติอเมริกา” แม้ว่า Bernard จะไม่อยากเรียกมันว่าการปฏิวัติสักเท่าไหร่ก็ตาม ชนวนเหตุแห่งการประกาศอิสรภาพหรือการปฏิวัตินี้เกิดขึ้นจากการที่ชาวอาณานิคมพยายามเรียกร้องหาผู้แทนของตนในรัฐสภาอังกฤษ เพราะประเทศเจ้าอาณานิคมไม่ยินยอมให้ชาวอาณานิคมได้เลือกตั้งผู้แทนของตนเอง ดังนั้นความตึงเครียดนี้ลงท้ายจึงกลายเป็นแรงขับดันให้เกิดการต่อสู้เพื่อประกาศอิรภาพจากอังกฤษ
สหรัฐอเมริกาได้ก่อตั้งสาธารณรัฐของตนเองขึ้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นและปรารถนาที่แตกต่างจากอังกฤษ พวกเขาร่วมกันสร้างรากฐานแบบสหพันธรัฐขึ้นมาแทน และเห็นว่าอำนาจนั้นต้องกระจายออก ไม่ใช่รวมศูนย์เอาไว้ แต่ละรัฐควรมีอิสระของตนภายใต้ข้อตกลงและอำนาจบางส่วนที่มอบให้แก่รัฐบาลกลาง ประชาธิปไตยของอังกฤษนั้นดูจะมีพัฒนาการมาจากการต่อสู้ระหว่างกษัตริย์กับสภา และประชาชน ส่วนในสหรัฐอเมริกาอาจจะต่างออกไป ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของพวกเขาคือการที่เสรีชนในดินแดนใหม่ต่อสู้กับกษัตริย์เจ้าอาณานิคม และนั่นทำให้พวกเขาแสวงหาสิ่งอื่นที่มิใช่กษัตริย์ นั่นคือกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่ถึงแม้นจะเป็นเช่นนั้นก็ตามประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกายุคแรกและอังกฤษในช่วงเวลานั้นก็ยังคงยึดโยงอยู่กับเรื่องของทรัพย์สิน มีเฉพาะพลเมืองชายที่มีทรัพย์สินถึงเกณฑ์เท่านั้นที่จะมีสิทธิทางการเมือง ส่วนบรรดาทาสและผู้หญิงโดยทั่วไปไม่มีสิทธิเช่นว่านี้
ชัยชนะในการปฏิวัติอเมริกาส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อประเทศเพื่อนบ้านของอังกฤษอย่างฝรั่งเศส ทั้งในแง่ของแรงบันดาลใจ และผลกระทบโดยตรงทางเศรษฐกิจ การทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการปฏิวัติอเมริกาของราชสำนักฝรั่งเศส ทำให้ประเทศเผชิญหน้ากับสภาวะถังแตกและวิกฤติเศรษฐกิจที่ซ้ำเติมด้วยโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทั้งทางอำนาจและเศรษฐกิจภายใน ความง่อนแง่นนี้ในที่สุดก็พังทลายลงด้วยแรงผลักเบาๆ ที่นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 และตามมาด้วยการสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสขึ้น
แต่ฝรั่งเศสแตกต่างจากทั้งอังกฤษและอเมริกา สาธารณรัฐใหม่นี้ละทิ้งความคิดเรื่องสิทธิทางการเมืองเป็นของผู้คู่ควร ไม่ว่าจะวัดจากฐานะ หรือการศึกษา แต่พวกเขาเสนอว่าสิทธินั้นเป็นสิ่งซึ่งติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิดโดยไม่เกี่ยวพันกับเรื่องทรัพย์สินใดๆ ทั้งสิ้น การปฏิวัติฝรั่งเศสจึงนำมาสู่การวางรากฐานใหม่ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดให้แก่ประชาธิปไตย นั่นคือ “คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง” ที่ยืนยันว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกัน (ยกเว้นผู้หญิงและพวกทาส) และเช่นเดียวกัน สาธารณรัฐที่ 1 ก็ฝากความหวาดกลัวมโหฬารและแรงบันดาลใจมหาศาลเอาไว้ในประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยการปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะพิจารณามันในแง่มุมไหน สำหรับชนชั้นปกครองทั้งหลายการปฏฺิวัติฝรั่งเศสคือผลลัพธ์ของประชาธิปไตยที่มากจนเกินไป และมันถลำไปสู่การปกครองโดยฝูงชนที่บ้าคลั่ง ไร้เหตุผลและเจ้าคิดเจ้าแค้น ส่วนผู้ฝักใฝ่การปฏิวัตินั้นสาธารณรัฐที่ 1 อาจเป็นความสำเร็จขั้นแรกและ “ยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึง” เป็นสิ่งที่อาจเข้าใจได้ในฐานะของการปกป้องการปฏิวัติ
การปกป้องการปฏิวัติหรือการปกป้องระบอบนั้นกลับกลายมาเป็นเรื่องที่น่าพิจารณา เพราะทั้งสามประเทศนั้นมีมุมมองที่อาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วแต่คิดเรื่องหนึ่งเหมือนกันคือการปกป้องระบอบหรือการปกป้องรัฐ เราอาจพบความแตกต่างกันบ้างในแง่ของระดับความรุนแรง และในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตยก็เช่นกัน ดูเหมือนจะมีแต่เพียงฝรั่งเศสที่เชื่อเรื่องความเสมอภาค ในขณะที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกาช่วงนั้นยังคงทุ่มเถียงกันเรื่องระดับของความเป็นประชาธิปตยที่มากเกินไป เพราะประชาชนอาจถูกหลอกลวงโดยพวกนักปลุกระดมหรือผู้รักชาติจอมปลอมที่เปี่ยมด้วยวาทศิลป์ในการหว่านล้อม
บทที่ 4: ดังที่ต็อกวิลล์ว่าไว้
อเล็กซี เดอ ต็อกวิลล์ น่าจะเป็นปรัชญาเมธีคนแรกที่เสนอให้โลกในช่วงเวลานั้นยยอมรับผลพวงของการปฏิวัติและชี้ว่าเราไม่อาจย้อนกลับไปสู่อดีตก่อนการปฏิวัติได้แล้ว มีแต่เพียงการยินยอมปรับตัวและอยู่ร่วมกันกับมัน พร้อมทั้งทำนายว่าสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยหรือการปกครองโดยประชาชนนั้นจะขยายตัวไปกว้างขวางมากขึ้น ผลงานเขียนของเขาสำรวจการเมืองในสหรัฐอเมริกา และการเมืองในยุดรปโดยเฉพาะเจาะจงไปที่ฝรั่งเศส ซึ่งเราจะพบว่ามีร่องรอยของความแตกต่างสำคัญนอกเหนือจากที่ผมได้อภิปรายสรุปเอาไว้ในเนื้อหาของบทที่แล้ว กล่าวคือ สหรัฐอเมริกานั้นมีแนวโน้มจะมุ่งเน้นการกระจายอำนาจออกไปมากกว่ารวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางอย่างอังกฤษหรือฝรั่งเศสที่เป็นรัฐเดี่ยว และพร้อมกันนั้นสหรัฐอเมริกายังมีลักษณะเป็นสังคมแบบปัจเจกชนชนชั้นกลางมากกว่าฝั่งยุโรป
ทว่าท่ามกลางการยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่มาถึงและผลพวงของมัน ในยุคที่ประชาธิปตยกำลังขยายตัวไปแทบทุกหนทุกแห่งนั้นเอง ต็อกวิลล์ก็ชี้ชวนให้เราเห็นถึงภัยของประชาธิปไตยที่อาจจะคืบคลานเข้าในอนาคต เขาไม่ได้พูดถึงภัยต่อประชาธิปไตย หากแต่พูดถึงภัยจากตัวประชาธิปไตยเองที่มันอาจลื่นไถลไปสู่การเป็นเผด็จการซึ่งได้รับความชอบธรรมจากเสียงข้างมาก ข้อเสนอนี้อาจดูฟังไร้สาระหรือไม่มีทางเป็นจริงได้ นักประชาธิปไตยโดยทั่วไปย่อมยืนกรานว่าประชาธิปไตยไม่อาจกลายเป็นเผด็จการไปได้ ซึ่งต่อประเด็นนี้ผมก็อยากให้ท่านผู้อ่านได้อดทนอ่านต่อไปสักนิด เพราะเนื้อความในบทถัดๆ ไปน่าจะช่วยชี้ให้เห็นประเด็นดังกล่าวได้แจ่มชัดมากขึ้น
บทที่ 5: ประชาธิปไตยและประชานิยม
ประชานิยมที่ Bernard กล่าวถึงในบทนี้จะว่าคล้ายกับความหมายในยุคสมัยของเราก็อาจจะคล้าย จะว่าต่างก็คงจะมีส่วนต่างอยู่บ้าง เหมือนกับความหมายของคำว่าประชาธิปไตยที่เราพยายามค้นหากันนั่นแหละ ประชานิยมในช่วงศตวรรษก่อนหน้านี้ไม่ได้หมายถึงการกำหนดนโยบายเพื่อตอบสนองคนส่วนใหญ่ของสังคม แต่หมายถึงการขยายสิทธิทางการเมืองออกไปให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรของประเทศมากขึ้น (แน่นอนว่ายังไม่รวมถึงผู้หญิง และคนผิวสี) ซึ่งนั่นหมายถึงการรวมเอาคนชนชั้นล่าง ชนชั้นแรงงาน คนยากคนจนและคนที่ไม่ได้รับการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย
ประเทศอังกฤษต้องต่อสู้กันอยู่นานกว่าที่รัฐสภาจะยินยอมผ่านกฎหมายรับรองสิทธิทางการเมืองให้แก่ชนชั้นแรงงานที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยความที่อังกฤษมีประวัติศาสตร์การต่อสู้และการแบ่งแยกทางชนชั้นยาวนานกว่า เหมือนที่เกิดกันโดยทั่วไปในยุโรป ซึ่งในช่วงเวลานั้นยังมีทั้งกษัตริย์ ชนชั้นขุนนาง อภิสิทธิ์ชน นายทุน ชนชั้นกลาง ไปจนถึงชนชั้นแรงงานและคนยากจน
หากแต่สหรัฐอเมริกากลับกลายเป็นกรณีที่แตกต่างออกไป ความเป็นประเทศเกิดใหม่ที่ไร้รากทำให้อเมริกาเป็นชาติที่เป็นเสมือนแหล่งรวมชนชั้นกลาง ที่ไม่มียอดพีระมิดเป็นชนชั้นกษัตริย์ หรือขุนนาง และชนชั้นแรงงานก็อาจไม่ได้เป็นคนยากคนจนสุดขีด วัฒนธรรมประชานิยมและรากฐานวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของอเมริกาทำให้สังคมนี้มีลักษณะเป็นปัจเจกชนนิยมอย่างสูง แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็รวมกลุ่มกันได้แต่เป็นการรวมกลุ่มอย่างหลวมๆ ผ่านการสร้างศัตรูร่วม น่าแปลกที่ศัตรูของคนอเมริกันส่วนใหญ่ในยุคนั้นซึ่งเป็นชาวนาเกษตรกรคือรัฐบาล นายทุนธนาคาร และนายทุนอุตสาหกรรม แต่เปล่าเลยครับ พวกเขาไม่ใช่นักอนาธิปไตยหรือพวกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หากแต่เป็นอีกด้านหนึ่งคือพวกเขาเป็นปัจเจกชนเสรีเต็มขั้นที่หวาดระแวงการเข้ามาแทรกแซงของกลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านั้น
ประชาธิปไตยประชานิยมแบบอเมริกาดำรงอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจและลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจจะนำพามันขยับขยายไปสู่การเป็นประชาธิปไตยทุนนิยมเสรี ความหมายของประชาธิปไตยถูกเปลี่ยนอีกครั้งและสำหรับผมเองผมคิดว่านี่ควรค่าแก่การจดจำเพราะมันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันว่าด้วยความคิดเรื่อง “ประชาธิปไตยและทุนนิยมเป็นสิ่งเดียวกัน” ขณะที่คำว่า “เสรีนิยม” เองก็ถูกแบ่งแยกเป็น 2 ความหมาย และกระทั่งในอเมริกาก็ยังใช้ 2 คำนี้แบบปะปนกัน ความหมายแรกนั้นสื่อถึงเสรีนิยมแบบดั้งเดิมที่เน้นารพูดถึงสิทธิทางการเมือง สิทธิตามธรรมชาติ บุคคลมีสิทธิเสมอกันในสภาวะธรรมชาติแต่ต้องยอมละทิ้งสิทธิบางอย่างลงเพื่อความสงบสุขในสังคม ขณะที่อีกฝ่ายนั้นเห็นว่าสิทธินี้ครอบถึงเรื่องทางเศรษฐกิจ และไม่ต้องไม่ถูกจำกัดสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น การต่อสู้แย่งชิงกันนั้นคือสภาวะธรรมชาติ และผู้พ่ายแพ้ในระบบทุนนิยมก็เป็นไปตามกลไกการคัดสรรตามธรรมชาติ ซึ่งนี่คือความหมายของทุนนิยมตลาดเสรี
มาถึงส่วนที่ผมค้างเอาไว้จากบทก่อนว่าแล้วประชาธิปไตยจะขยับขยายตนเองไปเป็นเผด็จการตามที่ต็อกวิลล์กังวลใจได้อย่างไร ผมคิดว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่น่าสนใจที่สุดเพราะ Bernard ชี้ชวนให้เราเห็นปรากฏการณ์หนึ่งผ่านการสะท้อนเปรียบเทียบรายการอย่าง Big Brother และนวนิยายการเมืองเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ ซึ่งเรื่องนี้จะพาเราย้อนกลับไปหาข้อกังวลในยุคโบราณว่าด้วยการปกครองของประชาชนจะกลายไปเป็นการปกครองของฝูงชนหรือไม่
Bernard เริ่มต้นอย่างง่ายดายและกระชับด้วยการอ้างถึงข้อความคิดของ ฮันนาห์ อาเรนด์ต ซึ่งได้แยกกลุ่มคนออกเป็น 2 ประเภท คือ “ประชาชน” กับ “ฝูงชน” สำหรับคำหลังนี้อาเรนด์ตใช้มันเพื่อกล่าวถึงกลุ่มคนที่ถูกแยกออกจากการมีส่วนร่วมทางสังคม คนกลุ่มนี้จะกลายมาเป็นส่วนเกินทางสังคมซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากทุกชนชั้นประกอบกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่เรียกว่าฝูงชนนั้นอาจสามารถแยกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ฝูงชนที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง และ ฝูงชนที่ว่างเปล่า
เนื้อหาของหนังสือจะเน้นหนักมาที่ฝูงชนที่ว่างเปล่า และผมคิดว่ามันก็น่าสนใจจริงๆ ในขณะที่ฝูงชนที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังนั้นไม่มีอะไรมากกว่ากลุ่มคนที่มีความเป็นปัจเจกสูง เต็มไปด้วยความไม่พอใจ และรอผู้นำที่เหมาะสม ฝูงชนที่ว่างเปล่ากลับเป็นอะไรที่ว่างเปล่าจริงๆ พวกเขาไม่ได้ถูกสังคมกีดกัน หากแต่เป็นปัจเจกชนที่เลือกจะกีดกันตัวเองออกจากการมีส่วนร่วมทางสังคม
กระนั้นก็ดีรายการแบบ Big Brother (รวมถึงรายการโชว์อื่นๆ ในลักษณะคล้ายกัน) ได้ดึงดูดฝูงชนที่ว่างเปล่าเหล่านี้ให้แสดงตัวตนออกมาด้วยเหตุผล 4 ประการคือ
(1) รายการเหล่านี้สร้างภาพมายาของธรรมชาตินิยมขึ้นมาให้เราเห็น (2) รายการเหล่านี้มอบอำนาจการพิพากษาให้แก่ผู้ชม ผ่านการโหวต (3) รายการเหล่านี้แสดงให้เราเห็นว่าอำนาจของเราถูกใช้อย่างจริงจัง ผ่านการที่ผู้แข่งขันถูกคัดออก (4) รายการเปล่านี้เปลี่ยนฝูงชนที่ว่างเปล่าให้กลายไปเป็นตัวแทนของประชาชน
ไม่เท่านั้น บรรดารายการเหล่านี้รวมทั้งสื่อในปัจจุบันยังทำหน้าที่ไม่แตกต่างอะไรจากสื่อในนวนิยาย 1984 เลยสักนิด แม้เราจะจำว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือนั้นคือการเสียดสีล้อเลียนและโจมตีระบอบเผด็จการของสตาลิน และฮิตเลอร์ หากแต่บางส่วนในนั้นกลับปรากฏกลายเป็นจริงในสื่อร่วมสมัยของเรา นั่นคือการทำให้วัฒนธรรมเสื่อมทราม การนำเสนอแต่รายการไร้สาระ และความบันเทิงชั้นต่ำ ที่สอดแทรกอุดมการณ์หรือแง่คิดของชนชั้นปกครอง (หรือบางครั้งอาจยัดเยียดมาในรูปแบบละครคุณธรรมอย่างประดักประเดิด) ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเปลี่ยนประชาชนที่มีส่วนร่วมทางการเมืองให้กลายเป็นฝูงชนที่ว่างเปล่าซึ่งตัดขาดตัวเองออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง มีส่วนร่วมกับประชาธิปไตย มาเป็นฝูงชนที่จมจ่อมอยู่ในโลกมายาและจินตนาการแบบกลับหัวกลับหางของสื่อ Bernard ชี้ให้เห็นว่าในแง่นี้เองนวนิยาย 1984 ของออร์เวลล์จึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่โจมตีระบอบเผด็จการของสตาลิน แต่มันกระแทกอย่างจังไปถึงกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยด้วย
ภายใต้สภาพการณ์เช่นว่านั้นเอง ที่ประชาธิปไตยจะลื่นไถลไปเป็นระบอบเผด็จการที่อำนาจถูกผูกขาดเอาไว้กับชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนำทางการเมือง ในขณะที่ประชาชนถูกเบียดขับออกจากพื้นที่ทางการเมืองเรื่อยๆ และลงท้ายแล้วก็จะกลายเป็นทาสที่มีหน้าที่เพียงให้ความชอบธรรมแก่การปกครองเท่านั้น
บทที่ 6: เงื่อนไขของประชาธิปไตยสมัยใหม่
หลังการอภิปรายอย่างยาวนานของหนังสือเล่มนี้ ถึงตอนนี้ผมเชื่อว่าผู้อ่านน่าจะมีคำถามขึ้นมาอย่างแน่นอนแล้ว 2 ประการ คือ สรุปแล้วความหมายของประชาธิปไตยคืออะไร? และ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ต่อต้านประชาธิปไตยใช่หรือไม่? สำหรับคำถามแรกนั้นต้องเรียนตามตรงว่าผมเสียใจเพราะเราไม่มีนิยามที่ชัดเจนแก่คำตอบนั้น และสำหรับข้อสองคำตอบคือไม่ใช่ Bernard ไม่ได้ต่อต้านประชาธิปไตย
ในบทนี้เราจะละทิ้งคำถามยากๆ ที่หาคำตอบได้ลำบากยิ่งนั้น แล้วขยับมาพิจารณาถึงองค์ประกอบหรือเงื่อนไขของประชาธิปไตยในปัจจุบันที่เรารับรู้กันเสียหน่อย หรือพูดให้ง่ายกว่าก็คือ ประชาธิปไตยที่เรารู้จักกันในปัจจุบันไม่ใช่ “ประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว” แต่เป็นประชาธิปไตยที่เกิดจากองค์ประกอบอื่นๆ มาผสมผสานร่วมกันในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งประกอบด้วย
(1) บทบาทของประชาชนภายในรัฐ
(2) หลักการอย่างเป็นทางการ
(3) โครงสร้างสังคมโดยทั่วไป
(4) ธรรมชาติของชนชั้นนำ
(5) สถาบันทั่วไปของรัฐ
(6) ประเภทของเศรษฐกิจ
(7) ทฤษฎีว่าด้วยทรัพย์สิน
(8) ทัศนคติต่อกฎหมาย
(9) ทัศนคติต่อต่อความรู้
(10) การเผยแพร่ข้อมูล
(11) ทัศนคติต่อการเมือง
แม้ว่าเราอาจจะยังหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้ว่าความหมายของประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นคืออะไร แต่องค์ประกอบข้างต้นนี้ก็น่าจะเพียงพอในการแสดงให้เห็นว่าการจะเป็นประชาธิปไตยมากหรือน้อยนั้นไม่ได้วัดกันแต่เพียงว่า ประเทศนั้นๆ มีการดำเนินการเลือกตั้งหรือไม่ และอันที่จริง สำหรับผมเององค์ประกอบอื่นของประชาธิปไตยที่ควรเพิ่มเข้าไป ก็ควรมีเรื่องสิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐ-นิติธรรม ด้วย หรือที่คนอื่นๆก็อาจจะเพิ่มเรื่องความหลากหลายหรือเรื่องพหุนิยมวัฒนธรรมเข้าไป
บทที่ 7: ความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย
นอกเหนือจากองค์ประกอบในเชิงหลักการที่กล่าวถึงในบทที่แล้ว องค์ประกอบอื่นในเชิงสถาบันก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประชาธิปไตยในปัจจุบัน Bernard เสนอว่าตามทัศนะของเขาองค์ประกอบพื้นฐานเชิงสถาบันของประชาธิปไตยนั้นควรประกอบด้วย
(1) ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง
(2) การเลือกตั้งที่เสรี ยุติธรรม และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
(3) เสรีภาพในการแสดงออก
(4) การเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางเลือกหรือแหล่งข้อมูลอิสระ
(5) การรวมตัวกันอย่างเสรี
(6) ความเป็นพลเมืองที่ไม่แบ่งแยก
แต่ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่เราต้องขบคิดกันต่อก็คือนอกเหนือจากองค์ประกอบเชิงหลักการและเชิงสถาบันที่กล่าวมานี้มันเพียงพอแล้วหรือยังสำหรับการทำให้แน่ใจหรือการันตีว่าเราจะมีประชาธิปไตยที่ดีขึ้นและเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม ส่วนสำคัญที่ Bernard ชี้ให้เห็นในช่วงท้ายก็คือเราจำเป็นต้องมีพลเมืองที่กระตือรือล้นและเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นด้วย ทั้งนี้การมีส่วนร่วมนั้นก็ต้องดำเนินไปบนการถกเถียงด้วยเหตุและผล การแสดงออกและวิพากษ์วิจารณ์โดยเสรี
กล่าวโดยสรุป หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้คำนิยามแก่เราว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นคืออะไร แต่กลับกันเลย Bernard พยายามชี้ให้เราเห็นข้อถกเถียงแวดล้อมอันมีคำว่า “ประชาธิปไตย” เป็นศูนย์กลางผ่านยุคสมัยต่างๆ ย้อนไปตั้งแต่ยุคโบราณอันเป็นต้นกำเนิดของประชาธิปไตย ในนครรัฐกรีกโบราณ
หลายครั้งดูเหมือนว่าข้อถกเถียงสำคัญของประชาธิปไตยอาจจะยังไม่ได้ขยับก้าวหน้าไปไหน สำหรับสังคมไทยผมไม่แน่ใจว่าเราออกจากความคิดยุคประชาธิปตยกรีกโบราณกันมาหรือยัง หรือถ้าออกมาแล้วก็อาจจะยังไม่ได้ไกลมากนักเพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้วยังคงมีการพูดกันอยู่เองว่าคนยากจนไม่ควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพราะพวกเขาขาดความรู้ และยากจนจึงอาจถูกชักจูงได้ หรือเราอาจจะก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยในยุคศตวรรษที่ 17 ที่ก็ยังเห็นว่าคนบางกลุ่มไม่ควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพราะหวาดระแวงว่าพวกเขาจะถูกปลุกปั่นยุยงโดยบรรดานักการเมืองผู้เปี่ยมด้วยวาทศิลป์
Bernard กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "อย่างไรก็ดี เราทำอะไรได้มากกว่านั้น สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย และมีทางเลือกสำหรับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เราสามารถส่งอิทธิพลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ถ้าเรารู้จุดอ่อนของระบบ ความเปลี่ยนแปลงอาจไม่เกิดขึ้นรวดเร็วอย่างที่เราคิด แต่บางทีมันก็เกิดขึ้นเร็วเกินไปด้วยซ้ำ"
หากจะมีคำตอบใดที่ชัดเจนก็คือ ประชาธิปไตยเดินทางมาไกลและยังคงต้องเดินทางต่อไป สิ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนประชาธิปไตยนั้นอาจเป็นได้ทั้งหลักการ และสถาบันประชาธิปไตย แต่สิ่งสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้เลยก็คือประชาชนหรือพลเมืองที่เอาการเอางานและมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน มิใช่ทาสที่รอการปกครอง หรือเป็นฝูงชนที่ว่างเปล่า.