พรรคประชาชนกับการเลือกตั้งท้องถิ่น (2)

พรรคประชาชนกับการเลือกตั้งท้องถิ่น (2)

จักรพล ผลละออ

25 ธันวาคม 2567


ในข้อเขียนชิ้นก่อนนั้นผมได้อภิปรายถึงเนื้อหาและข้อถกเถียง-ข้อกังวลในบางประการที่ผู้สนับสนุนของพรรคประชาชน มีต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตังในสนามการเมืองท้องถิ่นไปบ้างแล้ว ในข้อเขียนชิ้นนี้จะขออภิปรายต่อถึงข้อกังวลบางส่วนที่เหลือที่ผมเห็นว่าสำคัญ และจะขอเขียนข้อความด้วยความปรารถนาดีถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นของพรรค ทั้งในสนามระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่กำลังรณรงค์หาเสียงกันอยู่ในปัจจุบัน และรวมถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นย่อยอื่นๆ ในอนาคตอันใกล้ที่จะมาถึง


อ่านข้อเขียนชิ้นก่อนได้ที่นี่ พรรคประชาชนกับการเลือกตั้งท้องถิ่น (1)


ข้อกังวลประการที่สาม สนามเลือกตั้งท้องถิ่นเอาชนะยาก เพราะเป็นวัฒนธรรมการเมืองอีกแบบหนึ่ง อาศัยการซื้อเสียงและระบบเครือข่ายอุปถัมภ์


ก่อนจะอภิปรายในประเด็นนี้ ผมอยากจะขอใช้พื้นที่เพื่ออภิปรายประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันสักนิด ว่าด้วยเรื่อง “การเมืองท้องถิ่น” ในเบื้องต้นนั้นผมเห็นด้วยครับว่ารูปแบบ กติกาบางประการ และวัฒนธรรมของการเมืองท้องถิ่นนั้นแตกต่างอยู่บ้างกับการเมืองในระดับชาติที่เป็นการเลือกตั้ง ส.ส. แต่โดยสารัตถะแล้วผมเห็นว่าไม่แตกต่างกันมากขนาดเป็นคนละโลกไปเสียทีเดียว (ผมจะวกกลับมาที่ประเด็นนี้อีกครั้งในภายหลัง)


เช่นเดียวกันกับเรื่องการซื้อเสียงและเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ภายในพื้นที่ ซึ่งพูดกันอย่างตรงไปตรงมันไม่ใช่เรื่องว่าการเลือกตั้งระดับชาติไม่มีการซื้อเสียง หรือการซื้อเสียงในระดับชาติได้ผลน้อยกว่า อันที่จริงประเด็นเรื่องการซื้อเสียงนี้ควรค่าแก่การอภิปรายโดยละเอียดอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยได้ถกเถียงในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และบทสรุปมักจบลงที่การโจมตีพี่น้องประชาชนว่าเป็นพวก “โง่ จน เจ็บ” ที่ยอมขายเสียงลงคะแนนแลกเงินน้อยนิด


อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าจำเป็นต้องชี้แจงจุดยืนต่อประเด็นเหล่านี้ให้ชัดเจนเสียก่อน นั่นคือ เราต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง การใช้กลวิธีสกปรกในการทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่พร้อมกันนั้นก็ต้องยืนยันอย่างหนักแน่นเช่นกันว่า เรายังคงยึดมั่นและเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง ในกระบวนการประชาธิปไตย การยกประเด็นซื้อเสียงขึ้นมาอภิปรายนี้เป็นไปเพื่อยกระดับการเลือกตั้งและยับยั้งการใช้อำนาจเงินของบรรดาผู้มีอำนาจอิทธิพลเข้ามาโกงการเลือกตั้ง มิใช่เพื่อปรามาสโจมตีดูถูกเพื่อนร่วมชาติว่าโง่งมที่เป็นคนขายเสียง อันจะนำไปสู่การต่อต้านระบอบประชาธิปไตยแบบที่เคยเกิดขึ้นกับกลุ่มพันธมิตรฯ หรือ กปปส. ในอดีต 


เอาล่ะครับ ทีนี้ก็ถึงเวลาที่จะต้องตอบข้อกังวลประการที่สามกันเสียที ผมไม่เชื่อว่าวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติแตกต่างกันมากอย่างมีนัยยะสำคัญแต่ประการใดเลย แน่นอนว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นอาจพบปัญหาบางประการที่ทำให้ประชาชนประสบกับปัญหาหรืออุปสรรคในการเลือกตั้งบ้าง เช่น ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต, ไม่มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ไปจนกระทั่ง บัตรเลือกตั้งนั้นมีเฉพาะหมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่มีการพิมพ์ชื่อผู้สมัคร หรือโลโก้และชื่อของกลุ่มหรือพรรคการเมืองที่ผู้สมัครแต่ละคนสังกัด ต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปในระดับชาติที่เราจะพบทั้งหมายเลขและชื่อ รวมถึงสังกัดพรรคการเมืองของผู้สมัครต่างๆ 


แต่โดยสารัตถะแล้วผมไม่เชื่อว่าวัฒนธรรมการเมืองในระดับประชาชนนั้นแตกต่างกัน กล่าวคือ มีผู้ให้ความเห็นจำนวนมากว่า การเลือกตั้งระดับชาตินั้นอาศัยการเลือกตามกระแส เลือกตามพรรค แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นเลือกเอาตามตัวบุคคล เลือกตามระบบอุปถัมภ์เป็นหลัก นี่คือคำอธิบายที่ผมไม่เคยเชื่อถือเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะประการแรกที่สุดเลย ผมไม่เชื่อว่ามีคนที่ออกไปลงคะแนนเสียงเพียงเพราะ “กระแส” ในความหมายว่า “ผู้ลงคะแนนเหล่านี้ไม่ได้รู้เรื่องอะไรหรอก ไม่มีความรู้การเมือง เพียงแต่เลือกไปตามกระแสสังคมเท่านั้น” การสรุปว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไปลงคะแนนเสียงเพียงเพราะกระแสเหมือนไปเที่ยวตามกระแส ไปกินอาหารร้านดังตามกระแสนั้น เป็นการดูถูกวิจารณญาณของผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง


อาจจะมีบางท่านโต้แย้งว่า ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชน ออกไปลงคะแนนเสียงทั้งที่ไม่ทราบนโยบายของพรรค ไม่สามารถตอบได้ว่านโยบายพรรคมีอะไรบ้าง เพียงแต่ชื่นชอบตัวบุคคลหรือการทำงานของพรรคเท่านั้น แบบนี้เรียกว่า “เลือกตามกระแส” แต่ผมเห็นต่างอย่างยิ่ง ผมเห็นว่าสิ่งที่ทำให้คนเลือกลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมืองนี้ไม่ใช่เพราะเรื่องความหล่อสวยหน้าตาดี พูดเก่งหรืออะไรเลย หากแต่มาจากการทำงาน มาจากผลงานในสภา และที่สำคัญที่สุดประชาชนเลือกพรรคการเมืองนี้ด้วย “ความหวัง”


ในมุมมองของผม “ความหวัง” นี่แหละคือหัวใจสำคัญของการเลือกตั้ง หากเราทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งจะเป็นผู้แทนที่ดีของประชาชน เราสามารถเป็นความหวังถึงอนาคตที่ดีกว่า เป็นความหวังถึงการเมืองที่ดีกว่าเดิม คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้ เมื่อนั้นประชาชนก็ย่อมเทคะแนนให้ โดยไม่เกี่ยวว่าจะต้องสังกัดพรรคการเมืองแบบอนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชนเท่านั้น แต่ในห้วงสถานการณ์ที่ไม่มีใครสามารถเป็นความหวังได้ หรือไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้ว่าจะสามารถนำพาชีวิตที่ดีกว่ามาให้พวกเขาได้ เมื่อนั้นประชาชนก็ย่อนต้องคว้าเอา “ตัวเลือกที่เลวน้อยที่สุดเท่าที่เหลืออยู่” เพื่อที่อย่างน้อยหากชีวิตไม่ได้ดีขึ้น ก็ไม่แย่หรือเลวลงกว่าเดิมก็ยังดี


ดังนั้นเองครับ โดยเนื้อแท้แล้วหัวใจของการเลือกตั้งในแทบทุกสนามนั้นไม่ได้แตกต่างกันเลยสำหรับผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน และวัฒนธรรมการเมืองแบบบ้านใหญ่อุปถัมภ์นั้นก็ไม่ใช่ขุนเขาหรือสัจธรรมที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ในสนามการเมืองระดับชาติเมื่อยี่สิบปีที่แล้วก็ไม่มีใครคิดฝันหรอกครับว่ามันจะเปลี่ยนได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงก็ได้มาถึงแล้ว มันมาปรากฏตรงหน้าเราถึง 7 ปีเต็มแล้วนับตั้งแต่การตั้งพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เสียทีเดียวที่การเมืองระดับท้องถิ่นจะเปลี่ยนแปลงเช่นกัน


*******************


สำหรับพื้นที่ส่วนที่เหลือในข้อเขียนชิ้นนี้ผมอยากจะขอสื่อสารถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของพรรคประชาชนว่าด้วยเรื่องการเมืองท้องถิ่นสักนิดเป็นการทิ้งท้าย 


หากท่านได้สละเวลามาอ่านข้อเขียนชุดนี้ อยากให้ท่านทราบว่าผมเองรับทราบดีว่าสถานการณ์การรณรงค์หาเสียงในสนามท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องยากลำบาก แต่ผมคิดว่าหลายท่านน่าจะเห็นตรงกันอยู่ในประการหนึ่งหรือหากยังไม่เห็นประเด็นนี้ผมก็อยากชี้ชวนให้ได้ขบคิดและตระหนักกันอยู่เสมอนั่นคือ “อย่าหลงใหลไปกับคะแนนนิยมของพรรค”


การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าพรรคประชาชนไม่มีคะแนนนิยมเลย หรือคะแนนนิยมของพรรคประชาชนไม่ส่งผลกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเลย หากแต่เป็นการเตือนกันอย่างกัลยาณมิตรด้วยความปรารถนาดี คะแนนนิยมที่มาจากการทำงานในสภาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดของชัยชนะในการหาเสียงเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ดังที่ผมได้อภิปรายไปข้างต้นแล้วว่า หัวใจสำคัญของการเลือกตั้งคือ “การเป็นตัวแทนแห่งความหวังของประชาชน” ให้ได้ หากท่านไม่ได้สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าท่านจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ผ่านการทำงาน ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนย่อมจะกันไปมองหา “ตัวเลือกที่เลวน้อยที่สุด” เพื่อรักษาสถานะเดิมเอาไว้ 


สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาชนที่ไม่มีทั้งอำนาจเงิน อำนาจรัฐ อำนาจอิทธิพลใดๆ หนทางเดียวในการจะต่อสู้ในสนามเลือกตังทุกระดับคือการเป็นตัวแทนแห่งความหวังของประชาชนให้ได้ ทำให้ประชาชนเห็นให้ได้ว่าท่านมีความมุมานะ มีแผนการทำงาน มีแนวนโยบายที่พร้อมปฏิบัติและเป็นไปได้จริงในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน เมื่อไม่มีจุดแข็งทั้งอำนาจเงินและอำนาจปืน อำนาจเดียวที่เรามีคืออำนาจของความรู้ความสามารถ และความทุ่มเทในการทำงาน รวมถึงการครองตนอย่างมีวุฒิภาวะ


ในห้วงเวลาของการรณรงค์หาเสียงคือห้วงเวลาสำคัญที่ประชาชนจะเปิดใจรับฟังข้อเสนอทางนโยบายอย่างมากที่สุด ใช้เวลาเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในการลงพื้นที่เพื่อรณรงค์ทางความคิด นำเสนอนโยบาย และทำให้ประชาชนเห็นว่าท่านเป็นผู้สมัครที่แตกต่าง มีความพร้อมและเป็นตัวแทนแห่งความหวังของประชาชนได้จริง


ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของทั้งประเทศไทยและนานาประเทศ มีหลายครั้งหลายคราวครับที่พลังฝ่ายก้าวหน้าได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดคาดฝันมาก่อน บรรดาสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะพลังฝ่ายก้าวหน้าทำงานอย่างหนักและสามารถเป็นตัวแทนแห่งความหวังของประชาชนได้จริง 


สุดท้ายนี้สำหรับผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชน ไปจนถึงสมาชิกพรรค ผู้ปฏิบัติงาน อาสาสมัคร ทีมงานจังหวัด และทุกองคาพยพ ในห้วงเวลาแห่งการรณรงค์หาเสียงนี้มาร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นร่วมกันครับ ไม่ว่าผลมันจะออกมาแพ้หรือชนะ ผมเชื่อว่าเราไม่ได้สูญเสียอะไรเลย


หากแพ้เราก็เท่าทุน แต่ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ สรุปบทเรียนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในครั้งต่อๆไป 

แต่หากเราชนะ นั่นคือกำไรและถือเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยร่วมกัน.




บทความที่ได้รับความนิยม