แค่ไหนจึงควรฟ้อง? เส้นแบ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการฟ้องปิดปาก

 










แค่ไหนจึงควรฟ้อง? เส้นแบ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการฟ้องปิดปาก

จักรพล ผลละออ
26 ตุลาคม 2567


เมื่อวานนี้ account x หนึ่งของพรรคประชาชน พร้อมคุณเพชร กรุณพล เทียนสุวรรณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคประชาชน ได้ทวิตข้อความว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ใช้ x ท่านหนึ่งที่ทำวิดิโอและเขียนข้อความโจมตีพรรคประชาชน ทั้งเรื่องพรรคประชาชนพม่า ไปจนถึงการโยงใยว่าพรรคประชาชนเป็นแนวร่วมของกลุ่ม BRN และแนวร่วมแบ่งแยกดินแดน ทั้งยังสื่อนัยยะว่าพรรคประชาชนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงและการก่อวินาศกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงตามมาว่านี่เป็นการ “ห้องปิดปาก” ประชาชนโดยพรรคการเมืองหรือไม่?

ก่อนที่เราจะพูดถึงการฟ้องปิดปากนั้นผมอยากแสดงความเห็นและจุดยืนเกี่ยวกับประเด็นว่าด้วยการใช้เสรีภาพสักนิด ในระบอบประชาธิปไตยนั้นเรายึดถือคุณค่าหลัก (core value) สำคัญคือเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นนั้นก็นับเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนเช่นกัน อย่างไรก็ตามผมยืนยันหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นพร้อมกับยืนยันว่าเสรีภาพนั้นต้องมาพร้อมความรับผิดชอบด้วย



"การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น 
ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถ 
แสดงความคิดเห็นหรือสร้างทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมา
ใส่ร้ายโจมตีใครอย่างไร เมื่อไหร่ก็ได้"




ข้อเสนอเช่นนี้อาจดูเหมือนย้อนแย้งกันเองและอาจทำให้เข้าใจผิดไปได้ว่าผมสนับสนุนการฟ้องร้องปิดปาก แต่ขอให้ท่านผู้อ่านอดทนรับฟังคำอภิปรายต่อเนื่องของผมต่อไปสักนิด เพื่อจะได้ทำความเข้าใจร่วมกันถึงมุมมองและจุดยืนในเรื่องนี้

หลักของการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นกันนั้น รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า “สมการป้องกันการฟ้องหมิ่นประมาทเพื่อปิดปาก” ที่บอกว่า เสรีภาพในการแสดงออกมีค่าเท่ากับสิทธิในการปกป้องชื่อเสียงเกียรติยศ แต่เสรีภาพในการแสดงออกบวกกับประโยชน์สาธารณะนั้นมีค่ามากกว่าสิทธิในการปกป้องชื่อเสียงเกียรติยศ พูดง่าย ๆ ว่า การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องประโยชน์สาธารณะนั้นควรมาก่อนการเสื่อมเสียชื่อเสียงของคน ๆ หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการวิพากษ์วิจารณ์นั้น”[1]

ผมอยากแยกการฟ้องร้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทและคดีที่เกี่ยวเนื่องด้วยการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ (1) กรณีการฟ้องร้องกันระหว่าง “บุคคลธรรมดา ต่อ บุคคลธรรมดา” และ (2) กรณีการฟ้องร้องโดย "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐ-พรรคการเมือง-หน่วยงานของรัฐ-บริษัทเอกชนขนาดใหญ่" ต่อ “บุคคลธรรมดา”

สำหรับในกรณีที่ (1) นั้น ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่กระทำได้ คือเมื่อบุคคลธรรมดา 2 คนมีการแสดงความคิดเห็นหรือการด่าทอ จนเข้าข่ายหมิ่นประมาทต่อกันนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้เสียหายจะดำเนินการฟ้องร้องต่ออีกฝ่าย แม้ว่าโดยส่วนตัวแล้วผมจะถือคติว่าไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อใครในเรื่องการหมิ่นประมาท แต่ผมก็ไม่คัดค้านหรือขัดขวางหากบุคคลอื่นจะพิทักษ์สิทธิ์ของตนเอง แต่สำหรับกรณีที่ (2) นั้นผมเห็นต่างออกไป ผมคิดว่าบรรดา "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐ-พรรคการเมือง-หน่วยงานของรัฐ-บริษัทเอกชนขนาดใหญ่" นั้นไม่ควรดำเนินคดีหรือฟ้องร้องความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อบุคคลธรรมดาโดยไม่จำเป็น-ฟ้องไปเรื่อยเปื่อย-หรือโดยไร้เหตุอันควร

ทำไมผมจึงเสนอเรื่องที่ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่อง 2 มาตรฐานเช่นนี้? คำตอบก็คือ ผมคิดเรื่องนี้บนพื้นฐานของความสัมพันธ์เชิงอำนาจครับ ซึ่งอาจแยกได้ 2 กรณี คือ

(1) "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐ-พรรคการเมือง-หน่วยงานของรัฐ" บุคคลและนิติบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐหรือมีส่วนพัวพันกับอำนาจรัฐไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม มีอำนาจให้คุณให้โทษต่อประชาชนคนธรรมดาทั่วไปได้ อีกทั้งยังอยู่ได้ด้วยเงินภาษีของประชาชน ดังนั้นคนกลุ่มนี้ควรจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบจากบุคคลทั่วไปได้มากกว่าบุคคลธรรมดา ต้องรับคำวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าบุคคลธรรมดาให้ได้ - กรณีนี้ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ ตุลาการศาล ผู้มีอำนาจในองค์กรอิสระ นักการเมือง ส.ส. ส.ว. นายกรัฐมนตรี ไปจนถึงบุคคลในราชสำนัก

(2) "บริษัทเอกชนขนาดใหญ่" กรณีนี้อาจจะน่าแปลกใจสักหน่อยและผมไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ในทวิตต้นทาง แต่จำเป็นต้องพูดถึง เพราะบริษัทขนาดใหญ่แม้เป็นนิติบุคคลเอกชนกจริง แต่หลายครั้งการดำเนินการของบริษัทเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ตัวอย่างเช่น บริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ทำการวิจัยพันธุ์ปลา Alien species แล้วปล่อยมันหลุดเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศน์, โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ปล่อยมลพิษขึ้นสู่อากาศ หรือ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่เข้ารับสัมปทานผลิตไฟฟ้าที่มีผลการทำสัญญาทำซึ่งรัฐเสียเปรียบและประชาชนต้องรับผลกระทบผ่านค่าไฟที่แพงขึ้น ฯลฯ จะเห็นว่าการกระทำของบริษัทเอกชนก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ ดังนั้นบริษัทเหล่านี้จึงควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบจากสาธารณะชนได้ เฉกเช่นเดียวกันกับบรรดาบุคคลและสถาบันทางการเมืองในข้อ (1)

อย่างไรก็ตามมีข้อพิจารณาประการหนึ่งที่ควรยกมาพูดในที่นี้ด้วยว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถแสดงความคิดเห็นหรือสร้างทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมาใส่ร้ายโจมตีใครอย่างไร เมื่อไหร่ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการใช้เสรีภาพนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ มันย่อมไม่ใช่การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหากแต่เป็นการใช้ถ้อยคำเพื่อสร้างความเกลียดชังต่อกัน



"การกระทำของผู้ที่จะถูกดำเนินคดีนั้นคือการใช้เสรีภาพเพื่อใส่ร้าย สร้างความเกลียดชังต่อพรรคประชาชน โดยข้อมูลที่ไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริง อันมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ได้ ... อีกทั้งการกระทำเหล่านี้ยังมีลักษณะของการกระทำซ้ำอย่างตั้งใจ สะท้อนให้เห็นเจตนาของผู้กระทำว่าได้ลงมือกระทำไปโดยเจตนาก่อความเข้าใจผิด สร้างความเกลียดชังให้เกิดแก่พรรคประชาชน"




อารัมภบทมายาวนาน ถึงเวลาที่ต้องเข้าเรื่องเสียที กลับมาพิจารณากรณีที่พรรคประชาชนจะดำเนินการฟ้องร้องบุคคลธรรมดานั้น เรื่องนี้สมควรแก่การพิจารณาว่าจะเข้าข่ายการฟ้องปิดปาก หรือ SLAPP หรือไม่?

คดีการฟ้องปิดปากหรือ SLAPP (Strategic Lawsuit against Public Participation) หรือ “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมสาธารณะ” นั้น มีคำจำกัดความและนิยามอย่างชัดเจนก็คือ การฟ้องร้องดำเนินคดีที่ปราศจากการแสวงหาความยุติธรรมอันเป็นสาระสำคัญ หากแต่เป็นการฟ้องร้องที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อก่อให้เกิดภาระ อุปสรรคต่อผู้ถูกฟ้องร้องและก่อให้เกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าใช้สิทธิทางการเมือง หรือสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไป โดยที่คดีเหล่านี้มักเป็นการฟ้องร้องที่ผู้ฟ้องร้องไม่ได้มุ่งหมายจะแสวงหาความยุติธรรมหรือปรารถนาจะต่อสู้ให้ชนะคดีเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง หากแต่เป็นเพียงการฟ้องร้องโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์นั้นหยุดการกระทำลง

ดังที่เราจะเห็นตัวอย่างได้ ในช่วงของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อประชาชนพลเมืองเยาวชนนิสิตนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมหรือแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือกระทั่งออกมาร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วยข้อหาต่างๆ นานา ที่เมื่อเวลาผ่านไปในปัจจุบันเราก็ด้เห็นแล้วว่าหลายคดีนั้นศาลยกฟ้องเนื่องจากไม่มีมูล หรือไม่เข้าองค์ประกอบความผิด หากแต่ตลอดช่วงเวลาของการต่อสู้คดีนั้นประชาชนผู้ถูกฟ้องร้องต้องสูญเสียทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งเวลา และเงินทองในการไปขึ้นศาลเพื่อสู้คดี นี่จึงเป็นการฟ้องร้องโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนหยุดการเคลื่อนไหวมีส่วนร่วมทางการเมืองลง ไม่ใช่การฟ้องร้องเพื่อแสวงหาความยุติธรรม

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นต่อพรรคประชาชน เห็นได้ชัดเจนว่าการกระทำของผู้ที่จะถูกดำเนินคดีนั้นคือการใช้เสรีภาพเพื่อใส่ร้าย สร้างความเกลียดชังต่อพรรคประชาชน โดยข้อมูลที่ไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริง อันมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ได้ เช่น การกล่าวหาว่าพรรคประชาชนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความไม่สงบ การบิดเบือนว่าการเรียกร้องความยุติธรรมในกรณีโศกนาฏกรรมตากใบของพรรคประชาชนคือการสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน ฯลฯ อีกทั้งการกระทำเหล่านี้ยังมีลักษณะของการกระทำซ้ำอย่างตั้งใจ สะท้อนให้เห็นเจตนาของผู้กระทำว่าได้ลงมือกระทำไปโดยเตนาก่อความเข้าใจผิด สร้างความเกลียดชังให้เกิดแก่พรรคประชาชน มิใช่การกระทำไปโดยความเข้าใจผิด โดยขาดเจตนา หรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

การดำเนินคดีนี้จึงน่าจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องสิทธิของพรรคประชาชนในฐานะนิติบุคคล ที่เสื่อมเสียชื่อเสียงจากการสร้างข้อกล่าวหาเท็จดังกล่าว ยังมิพักต้องกล่าวว่าการโ๗มตีกันทางการเมืองโดยปราศจากข้อเท็จจริงอันเป็นที่ประจักษ์ของผู้กระทำนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์โพดผลใดต่อสาธารณะ นอกจากสร้างความเข้าใจผิด สร้างความเกลียดชังเพื่อตอบสนองอคติทางการเมืองของผู้แสดงออกเอง การดำเนินการนี้ของพรรคประชาชนย่มไม่เข้าข่ายการฟ้องร้องดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมสาธารณะ

แต่กลับกัน หากอนาคตมีบุคคลธรรมดาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่พรรคประชาชนนำเสนอด้วยข้อเท็จจริง เช่น อนาคตพรรคประชาชนมีนโยบายหาเสียงแจกเงินคริปโตแก่ประชาชนทุกคนมูลค่าเทียบเท่า 10,000 บาทต่อคน แต่มีประชาชนออกมาแสดงความเห็นว่าทำไม่ได้จริงเพราะติดข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและกฎหมาย แล้วพรรคประชาชนดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อประชาชนคนนั้น เช่นนี้จึงจะนับว่าเข้าข่ายการฟ้องร้องดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมสาธารณะ

อันที่จริงสำหรับกรณีกฎหมายหมิ่นประมาทในประเทศไทยนั้นยังมีประเด็นปัญหาอยู่อีก ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหนึ่งเช่นกันที่ทำให้พรรคประชาชนมีนโยบายเสนอชุดกฎหมาย “Anti-SLAPP law” เข้าสู่สภา อย่างไรก็ตามการเสนอนโยบายนี้ของพรรคประชาชนเป็นคนละเรื่องกับการฟ้องร้องที่เกิดขึ้น ดังที่ผมได้อภิปรายมาข้างต้นแล้วว่าการใช้เสรีภาพเพื่อสร้างความเกลียดชังโดยปราศจากข้อเท็จจริง หรือการใส่ร้ายด้วยความเท็จนั้น ไม่ถูกนับว่าเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในอนาคตหากมีโอกาสผมจะเขียนถึงชุดกฎหมายและข้อเสนอของประชาชนอีกครั้ง

สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าเราจะยกระดับการคุ้มครองเสรีภาพในสังคมไทยให้ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิมได้ พร้อมกับการยกระดับข้อถกเถียงทางการเมือง ให้ไปไกลกว่าการโจมตีกันด้วยความเท็จหรือสร้างเรื่องใส่ร้ายเพื่อสร้างความเกลียดชังบนฐานของอคติส่วนบุคคลแทนที่จะเป็นข้อเท็จจริง และหวังว่าบรรดาบุคคลแวดล้อมผู้ถูกฟ้องจะเรียนรู้จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้บ้างไม่มากก็น้อย.




---------------------------------------------------------

อ้างอิง

[1] TDRI (2559), เปิดทางตรวจทุจริต เสนอขีดเส้นแบ่ง ‘ฟ้องหมิ่นประมาท’ แยกเรื่องส่วนตัว ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ, จาก https://tdri.or.th/2016/07/defamation-slapp/

[2] Wannapon Homchan (2567), ปิดปากคุณได้ ก็จะปิดปาก : ของขวัญพลเมืองที่ตอบแทนด้วยการ SLAPP, จาก https://hand.co.th/blog/Seethinkcen_202402_SLAPP

[3] วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (2566), ในสังคมที่ต้องการผู้กล้า เราจะรับมือกับ SLAPP การฟ้องปิดปากเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไร?, จาก https://www.the101.world/slapp-environment-case/

[4] The Matter (2566), ชวนรู้จัก ‘SLAPP’ การฟ้องปิดปาก ที่ก่อให้สังคมเกิดภาวะชะงัก-กลัว ในการตรวจสอบกลุ่มทุนผูกขาด, จาก https://thematter.co/brief/204686/204686

[5] TDRI (2558), เมื่อสิทธิมนุษยชนโดน “SLAPP”, จาก https://tdri.or.th/2015/08/slapp/


บทความที่ได้รับความนิยม