แหกกดปลกแอก : หนังสือบ่นระบบราชการที่มากกว่าแค่บ่น


แหกกดปลกแอก : หนังสือบ่นระบบราชการที่มากกว่าแค่บ่น

จักรพล ผลละออ

5 พฤศจิกายน 2567


“แหกกดปลดแอก” หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ The Utopia of Rules ผลงานเขียนของ David Graeber นักมานุษยวิทยา และนักอนาธิปไตย น่าจะเป็นหนังสือเล่มแรกในรอบหลายเดือนที่ผมอ่านจบ หลังจากที่ผมประสบสภาวะเบื่อหน่ายและเหมือนมีสภาวะสมาธิไม่คงที่ และไม่สามารถจดจ่อกับอะไรนานๆ ได้มากนัก การอ่านหนังสือที่ความยาวเกิน 300 หน้าให้จบในช่วงนี้นับว่าต้องใช้พลังงานมากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเขียนของนักมานุษยวิทยาที่ไม่ใช่สิ่งที่ผมคุ้นชินนัก ก่อนหน้านี้มีงานเล่มหนึ่งของนักมานุษยวิทยาที่ผมอ่านคือ “เมื่อโลกพลิกผัน” ก็พบว่าอ่านได้ไม่ละเอียดนัก


อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเล่มเป็นผลงานที่ดีและอ่านสนุก สำหรับ “เมื่อโลกพลิกผัน” นั้นผมคิดว่าจะอ่านทวนอีกครั้งก่อนจะมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านได้ฟังในอนาคต แต่สำหรับตอนนี้ เราจะมาคุยกันถึงหนังสือเรื่อง “แหกกดปลดแอก” กันเป็นหลัก 


ผมอยากเริ่มต้นเล่าก่อนที่จะเข้าเนื้อหาว่า ครั้งแรกที่ผมเห็นหนังสือเล่มนี้ ผมพิจารณาจากปกและชื่อเรื่องแล้วตัดสินใจซื้อมาทันทีเพราะคาดว่ามันจะต้องเต็มไปด้วยข้อเขียนวิพากษ์วิจารณ์ระบบราชการอย่างถึงพริกถึงขิง แต่ผมคาดเดาผิดไปเล็กน้อย มันเต็มไปด้วยข้อเขียนวิพากษ์วิจารณ์ระบบราชการจริงๆ แต่พร้อมกันนั้นมันก็มาพร้อมมุมมอง การตั้งคำถาม และการอภิปรายที่ลงลึกไปมากกว่าที่ผมจินตนาการถึง 


เรื่องน่าสนใจก็คือ Graeber ไม่ได้แค่ชี้ให้เราเห็นว่าระบบราชการมันแย่อย่างไร แน่นอนว่าเรื่องแบบนั้นพวกเรารับรู้กันโดยพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ความน่าสนใจก็คือเขาชี้ให้เห็นว่าระบบราชการมีอิทธิพลลึกกว่านั้น และท่านผู้อ่านคงไม่อยากเชื่อว่าเขาสามารถยกประเด็นเรื่องนวนิยายแฟนตาซี อย่าง Lord of The Ring หรือภาพยนต์ไซไฟ อย่าง Star War หรือ Star Trek มาใช้เพื่ออภิปรายให้เราเห็นประเด็นที่น่าสนใจได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งผมจะได้เขียนเล่าสรุปให้ผู้อ่านได้เห็นต่อไปข้างหน้า


สำหรับ Graeber เขาเขียนอยู่บ่อยครั้งว่าผลงานชิ้นนี้เป็นความเรียง เป็นข้อเขียนบ่นถึงระบบราชการ แต่พร้อมกันนั้นมันก็เป็นบทวิพากษ์วิจารณ์ต่อระบบราชการในแบบที่ “ฝ่ายซ้าย” ขาดแคลน เรื่องนี้ชวนให้ผมคิดตามและเห็นว่าเป็นจริง ในสองประการ ประการแรกคือระบบราชการนั้นแฝงฝังตัวเองจนกลายไปเป็นขอบฟ้าหรือเพดานความคิดของทุกน ไม่เว้นกระทั่งฝ่ายซ้าย และประการที่สองมันทำให้ฝ่ายซ้ายไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ระบบราชการหรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์มันอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อชนชั้นนายทุน หรือชนชั้นนำ


ดังนั้นเอง ผลงานชิ้นนี้จึงควรค่าแก่การอ่าน ทั้งต่อบุคคลทั่วไปเพื่อให้เราเห็นภาพเบื้องหลังที่ไกลกว่าระบบราชการอันน่าเบื่อและแข็งทื่อ และต่อฝ่ายซ้ายเพื่อขบคิดหาหนทางในการรับมืออิทธิพลที่แฝงฝังอยู่ของระบบราชการ ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีเป้าประสงค์เพื่อให้เราเข้าใจว่าระบบราชการทำงานอย่างไร แต่มีเป้าประสงค์เพื่อให้เราไปให้ไกลกว่าระบบราชการ


บทนำ : กฎเหล็กแห่งเสรีนิยม และยุคแห่งระบบราชการอย่างแท้จริง


อำนาจที่น่าสนใจที่สุดของระบบราชการคือ มันทำให้คนที่เชื่อว่าฉลาดที่สุดกลายไปเป็นไอ้โง่ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับแบบฟอร์มราชการ


หากคุณคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะเริ่มต้นด้วยการสาธยายหรืออธิบายให้ฟังว่าระบบราชการคืออะไรก่อนที่จะวิจารณ์มัน เสียใจด้วยครับคุณคิดผิด ลืมไปก่อนเลยว่าระบบราชการตามทฤษฎีที่เราร่ำเรียนกันมามันคืออะไร เพราะเราจะเริ่มนต้นจากข้อเท็จจริงที่พบในชีวิตประจำวันว่ามันทั้งแข็งทื่อ น่าเบื่อ เต็มไปด้วยเรื่องจุกจิกยุบยิบใจ และหลายครั้งก็เต็มไปด้วยปริศนาที่เราหาคำตอบไม่ได้ กระทั่งเจ้าหน้าที่ที่บอกวห้เราทำแบบนั้นก็อาจจะตอบเราไม่ได้เช่นกันว่าให้เราทำแบบนั้นทำไม เช่น ทำไมเราต้องเคาะเว้นวรรคจำนวน 2 ครั้งในหนังสือราชการ ชนิดที่หากเว้นวรรคผิด เอกสารนั้นจะใช้ไม่ได้หากตัวพิมพ์คลาดเคลื่อนไปหลักมิลลิเมตร สิ่งที่ระบบราชการต้องการไม่ใช่เหตุผลหรือการอธิบายให้เราเข้าใจ สิ่งที่ระบบราชการต้องการคือให้เราเงียบแล้วทำตามระเบียบของระบบราชการเสีย


ประเด็นที่น่าสนใจถัดมาก็คือผมอยากชี้ชวนให้ผู้อ่านลองจินตนาการว่า เมื่อเราพูดถึง “ระบบราชการ” เราจินตนาการภาพถึงอะไรบ้างและขอบเขตของมันอยู่ที่ไหน? เจ้าหน้าที่สวมชุดเครื่องแบบของรัฐ? มีบัตรพนักงานรัฐอย่างเป็นทางการ? ขอบเขตจำกัดอยู่ที่กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระ หรือหน่วยงานทางปกครองที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายทางการเท่านั้นหรือ? เปล่าเลย Graeber ชี้ให้เราเห็นว่าปัจจุบันสิ่งที่เรียกว่าระบบราชการนั้นขยายตัวออกไปยังพื้นที่ที่เราเรียกว่าภาคเอกชนแล้ว และอันที่จริงแทบไม่มีความต่างกันเลยระหว่างภาครัฐกับเอกชน ในแง่ของกระบวนการทำงานภายใต้กรอบคิดแบบระบบการดำเนินงานแบบ “ราชการ” 


เราเคยถูกสอนกันมาเสมอว่าระบบราชการและเอกชนนั้นแตกต่างกัน ระบบราชการเชื่องช้า ระบบเอกชนรวดเร็ว, ระบบราชการฉ้อฉล ระบบเอกชนโปร่งใส, ระบบราชการรับใช้สาธารณะ ระบบเอกชนรับใช้ผู้ถือหุ้น แต่ดูเหมือนความเป็นจริงจะกลับหัวกลับหางกันเสียหมด เพราะปัจจุบันทั้งระบบราชการและเอกชนนั้นดูเหมือนจะรับใช้ผู้ถือหุ้นหรือผู้มีอำนาจมากกว่าสาธาณะ, ทั้งสองระบบฉ้อฉลไม่ต่างกันและหลายครั้งรวมหัวกันฉ้อฉลปกปิดการตรวจสอบ และที่สำคัญที่สุดทั้งสองระบบเชื่องช้าแทบไม่ต่างกัน แต่จะรวดเร็วทันใจมากขึ้นถ้าคุณมีเงินมากพอจะจ่ายเพื่อเร่งรัดกระบวนการผ่านช่องทางพิเศษ (ซึ่งระบบราชการจ่ายใต้โต๊ะ แต่เอกชนจ่ายบนโต๊ะ - ลองนึกถึงแอพสั่งอาหารที่มี function ให้เราจ่ายเงินเพิ่มเพื่อจะได้อาหารเร็วขึ้น) 


การขยายตัวของระบบราชการหรือวิธีคิดแบบระบบราชการนั้นหยั่งรากลึกอยู่ในทุกหนทุกแห่งของสังคม โดยไม่แยกว่าพื้นที่นั้นเป็นส่วนของรัฐ หรือเอกชน ชีวิตของเราในโลกปัจจุบันกลายเป็นโลกที่เต็มไปด้วยแบบฟอร์มและกฎระเบียบจำนวนมหาศาลที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาของกฎระเบียบเก่า เพียงเพื่อมันจะก่อปัญหางี่เง่าใหม่ขึ้นมาให้ระบบราชการเสนอเรื่องออกระเบียบใหม่มาอีกครั้งทับถมกันไป


ยิ่งไปกว่านั้นระบบราชการยังเป็นรากฐานของ “เหตุผล” หรือ “ความเป็นจริง” ทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่มีส่วนปิดกั้นความเป็นไปได้อื่นๆ ของสังคมทั้งหมดลง มีคำกล่าวว่า “คุณจินตนาการถึงวันสิ้นโลกได้หลากหลายรูปแบบ แต่คุณไม่มีทางจินตนาการถึงวันสิ้นสุดระบบทุนนิยมได้” ในทางเดียวกัน “คุณจินตนาการถึงวันสิ้นโลกได้หลากหลายรูปแบบ แต่คุณไม่มีทางจินตนาการถึงวันสิ้นสุดระบบราชการได้” 


ระบบราชการเป็นสิ่งพิศวงงงงวยที่เต็มไปด้วยความลี้ลับซับซ้อน ซึ่งอ้างว่ามันกำเนิดขึ้นในฐานะระบบที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสังคมที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมาก แม้ว่าโดยรวมแล้วมันจะไม่ได้มีประสิทธิภาพอะไรมากไปกว่าการเก็บรวบรวมข้อมูล ที่บางครั้งเราต้องกรอกข้อมูลเดิมซ้ำเมื่อไปติดต่อหน่วยงานใหม่ เพราะฐานข้อมูลของสองหน่วยงานไม่เชื่อมโยงถึงกัน และหลายครั้งข้อมูลของเราอาจหลุดไปถึงมือเอกชนให้พวกเขาโทรมาหลอกขายประกันกับเราได้สัปดาห์ละสองครั้ง แต่กระนั้นมันด็ทำให้เราเชื่อและสยบยอมว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดแล้วที่พวกเราจะใฝ่ฝันถึงมันได้ เช่นเดียวกับที่ระบบทุนนิยมทำกับเรานั่นแหละ


ปัญหาที่น่าสนใจก็คือกระทั่งฝ่ายซ้ายเองเมื่อเผชิญหน้ากับกำแพงของระบบราชการก็ยังต้องโอนอ่อนผ่อนตามและไม่อาจคิดหาวิธีก้าวข้ามมันไปได้ หลายครั้งเราพูดกันเรื่องการยกระดับประสิทธิภาพของระบบราชการ แต่ไม่มีเลยที่เราจะพูดถึงการยกเลิกระบบราชการ - แม้แต่ในยามที่เราพูดถึงสังคมอุดมคตแบบคอมมิวนิสต์ เราก็ยังคิดถึงระบบราชการ และการบริหารจัดการแบบราชการ เพียงแค่พยายามหาหนทางทำให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือหลายครั้งเองเมื่อพูดถึงเรื่องที่ใกล้ลงมาอย่างการสร้างรัฐสวัสดิการก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะดำเนินนโยบายนี้จำเป็นต้องมีระบบราชการที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง นั่นทำให้เราขาดจินตนาการจะมองถึงความเป็นไปได้อื่นๆ หรือระบบการบริหารจัดการแบบอื่นที่จะเข้ามาแทนที่ระบบราชการ เรื่องเช่นนี้ก็เกิดขึ้นเสมอในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ในรัฐสมัยโบราณผู้พิชิตจากภายนอกอาจพิชิตอาณาจักรได้ แต่พวกเขาไม่มีทางปกครองดินแดนได้หากปราศจากระบบราชการ ซึ่งในที่นี้ก็สมควรอย่างยิ่งที่เราจะทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “ระบบราชการ” นี้ให้มากขึ้น


บทที่ 1 : เขตดับสิ้นแห่งจินตนาการ ความเรียงว่าด้วยความงี่เง่าเชิงโครงสร้าง


เนื้อหาที่ผมชอบที่สุดในบทนี้ น่าจะเป็นการอธิบายถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างและบทบาทของระบบราชการในโครงสร้างนี้ ผมอยากเริ่มต้นเล่าเรื่องนี้ด้วยการตั้งคำถามเล่นๆ ว่า “คุณจะคิดถึงตำรวจขึ้นมาในสถานการณ์แบบไหนมากกว่า” และ “คุณคิดว่าตำรวจจะปรากฎตัวในสถานการณ์ไหนได้รวดเร็วกว่า” ระหว่าง (1) เมื่อคุณกำลังถูกเพื่อนบ้านพยายามบุกเข้าบ้านในยามวิกาล และ (2) เมื่อคุณจอดรถในที่ห้ามจอด ผมเชื่อว่าสำหรับคำถามแรก ทุกคนจะคิดถึงตำรวจในสถานการณ์ (1) มากกว่า (2) และเชื่อว่าคำถามที่สองนั้นทุกคนก็น่าจะคาดหวังแบบเดียวกัน แต่ความเป็นจริงก็คือตำรวจจะมาปรากฏตัวเมื่อคุณจอดรถในที่ห้ามจอด รวดเร็วกว่าการปรากฏตัวเมื่อคุณกำลังจะถูกเพื่อนบ้านบุกรุก 


ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรอกที่ในละครของเรา (รวมทั้งในซีรีย์ต่างประเทศ) ที่ตำรวจมักจะโผล่มาตอนจบ หลังจากตัวเอกต่อสู้กับผู้ร้าย หลังจากตัวละครตัวใดตัวหนึ่งบาดเจ็บหรือตายลง Graeber อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุการณ์ปล้นชิงอะไรต่างๆ นั้นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับงานเอกสารมากนัก แต่กับการจอดรถในที่ห้ามจอดมันมีเอกสารตามมามากมาย - ใบสั่ง, การดำเนินคดี ฯลฯ - และเช่นกันทำไมตำรวจมักมาสายเสมอ เพราะในเหตุทะเลาะวิวาทั่วไป มันไม่มีเอกสารอะไร เว้นเสียแต่มันจะมีคนตายขึ้นมา เมื่อนั้นตำรวจจึงจะเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะพวกเขาต้องบันทึกเหตุการณ์ ต้องทำเอกสาร ต้องดำเนินคดี


อีกประการหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจเมื่อ Graeber พูดถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง นอกจากเขาจะพูดถึงมันในแง่ที่ฝ่ายซ้ายหรือคนโดยทั่วไปรับทราบกันอยู่แล้ว เขายังพาเราไปสำรวจวิธีคิดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ผมอยากลองชวนให้ผู้อ่านลองคิดตามอย่างนี้ครับ คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมเราจึงไม่ตั้งคำถามและยินยอมทำตามโดยดีเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจร้องขอให้เราแสดงเอกสารประจำตัว หรือ คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมหลายครั้งเมื่อเราตั้งคำถามกับมาตรการของเจ้าหน้าที่เช่น “ทำไมต้องขอให้เราทำอย่างนั้นอย่างนี้” พวกเขามักแสดงอาการไม่พอใจออกมาอย่างชัดเจน (และบางครั้งอาจนำไปสู่การพยายามใช้อำนาจกลั่นแกล้งเราต่อหรือกระทั่งใช้ความรุนแรงทางกายภาพ)


Graeber อธิบายว่านี่คือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ระบบราชการไม่ใช่เพียงแค่หน่วยงานอันเอื่อยเฉื่อย แข็งทื่อ ไร้จิตวิญญาณ หากแต่มันเป็นตัวแทนของรัฐในฐานะผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรง และดังนั้นเองหลายครั้งการกระทำของมันจึงไม่มีเหตุผลหรือไม่ต้องการเหตุผลรองรับ - ทำไมเจ้าหน้าที่จึงมีแนวโน้มไม่พอใจเมื่อเราถามหาเหตุผลในการกระทำของเขา - อีกประการคือสัญลักษณ์ของผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรงคืออะไร? คือพวกเขาทำให้เราเชื่อได้ว่าพวกเขาจะใช้ความรุนแรงทั้งที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงยินยอมทำตามเจ้าหน้าที่รัฐอย่างว่าง่าย ในประเด็นนี้ Graeber ยกตัวอย่างของทาสที่ถูกนายทาสเฆี่ยนตีเป็นประจำ นายทาสไม่จำเป็นต้องอธิบายว่าพวกทาสทำอะไรผิด สิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกทาสต่างหากที่ต้องพยายามทำความเข้าใจอยู่เสมอและต้องพยายามหาคำตอบให้ตัวเองว่าพวกเขาทำอะไรผิด และเมื่อเหตุนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ บรรดาทาสจะรู้ว่าต้องทำอย่างไร ขณะที่นายทาสก็ไม่จำเป็นต้องเงื้อมือถือแส้ ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้บรรดาทาสยินยอมทำตาม 


สำหรับกรณีประเทศไทย ผมคิดว่าคุณไม่มีทางเห็นภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าตับกุมคนเมายาบ้า หรือคนเสียสติที่ก่อความวุ่นวายอย่างองอาจกล้าหาญเท่ากับเวลาที่พวกเขาไล่ตะครุบหรือจับกุมเยาวชนคนหนุ่มสาวและประชาชนที่ออกมาชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองแน่นอน - และเช่นกันเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือรัฐไม่เคยต้องอธิบายว่าเยาวชนหรือผู้ชุมนุมทำอะไรผิด เขาไม่เคยอธิบายหรอกว่าการถือป้าย การไม่แสดงความเคารพ การใส่เสื้อรณรงค์ การทำโพลสำรวจความเห็น หรือกระทั่งการบีบแตรนั้นผิดอย่างไร สิ่งเดียวที่พวกเขาสื่อสารคือพวกเขาพร้อมทุบตีและกระทั่งทำร้ายร่างกายคุณอย่างรุนแรง หรือจับกุมคุณไปขังหากคุณออกไปทำอะไรแบบนั้น - นี่คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างและระบบราชการ 


บทที่ 2 : รถเหาะกับอัตราผลกำไรที่ดิ่งลง


พูดตามความจริงโดยส่วนตัวผมชอบเนื้อหาของบทนี้มากที่สุด เพราะ Graeber ใช้งานวรรณกรรมยุคก่อนที่ใฝ่ฝันถึงอนาคตในยุคของเรา มาเทียบกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น พร้อมกับยกวรรณกรรมในยุคของเราขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าความใฝ่ฝันของมนุษยชาตินั้นหดแคบลงแค่ไหน ทั้งหมดนำไปสู่ข้อเสนอหนึ่งที่อาจหาญอย่างมากคือเขาเสนอว่าไม่มีสิ่งใหม่หรือเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดอะไรเลยในยุคสมัยของเรา


ผมอยากให้ผู้อ่านลองพิจารณาและคิดตามกันดูครับ ในยุค 100 ปีก่อนหน้านั้น ผู้คนในโลกตะวันตกจินตนาการถึงสังคมในยุคของเราไว้อย่างไรบ้าง? พวกเขาจินตนาการถึงรถบินได้ การเดินทางในอวกาศ การตั้งอาณานิคมบนดาวเคราะห์ดวงอื่น การเดินทางข้ามโลกอย่างรวดเร็ว หุ่นยนต์รับใช้ภายในบ้านที่ไม่ใช่แค่เครื่องดูดฝุ่น ฯลฯ แต่สิ่งเดียวที่เราได้มาในยุคสมัยของเราซึ่งเรียกได้ว่าน่าจะเป็นการก้าวกระโดดทางเคโนโลยีคงมีแค่เพียง อินเตอร์เน็ต กับ สมาร์ทโฟน 


เราอาจจะสรุปกันได้ในฉับพลันว่า “ก็นั่นมันแค่เรื่องเพ้อฝันในงานวรรณกรรมและนวนิยาย” แต่สิ่งสำคัญก็คือไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรอกครับ ที่คนในยุคเดียวกันจะเขียนถึงสังคมอนาคตในแบบคล้ายๆกัน และยิ่งไปกว่านั้นงานวรรณกรรม (และงานเขียนแทบทุกประเภท) เป็นภาพสะท้อนของความคิดและความเชื่อของผู้คนในสังคม พูดให้ง่ายก็คือแนวโน้มของพัฒนาการทางเทคโนโลยีในยุคของคนเมื่อ 100 ปีก่อน หรืออย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 นั้น ยอดเยี่ยมและวางรากฐานอันมั่นคงจนทำให้คนในยุคนั้นเชื่อได้ว่าพวกเขาจะก้าวสู่อนาคตอันเจิดจรัสได้ภายในปี 2000 แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้น 


Graeber ชี้ว่าเรื่องทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลอย่างชัดเจน และหนึ่งในนั้นคือเหตุผลจากความสัมพันธ์ทางการผลิตในระบบทุนนิยม การเปลี่ยนแปลงแผนงบประมาณด้านการวิจัยของภาครัฐ และการแข่งขันกันทำวิจัยของเอกชนกลับกลายมาเป็นการสร้างอุปสรรคให้แก่การพัฒนาเทคโนโลยี เหตุผลก็เพราะสิ่งที่เราเรียกว่างานวิจัยเอกชนนั้นมีเป้าประสงค์เพื่อการแสวงหากำไร และมันถูกคุ้มครองด้วยกฎหมายปกป้องกรรมสิทธิ์ นั่นทำให้ต้นทุนของการต่อยอดงานวิจัยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ผมขอยกตัวอย่าง หากคุณเป็นบริษัท A ที่ค้นพบพลังงานสำหรับการเดินทางด้วยความเร็วแสง แต่ไม่มีศักยภาพพัฒนาการเดินทางผ่านความเร็วแสงได้ ส่วนบริษัท B มีนวัตกรรมเดินทางด้วยความเร็วแสงแต่ทำการทดลองไม่ได้เพราะขาดองค์ความรู้เรื่องพลังงานจากบริษัท A องค์ความรู้ทั้งหมดถูกกั้นขวางและแยกส่วนจากกันด้วยกำแพงที่เรียกว่ากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล - องค์ความรู้เหล่านี้กลายมาเป็นความลับเพื่อใช้แสวงหากำไร แต่เรื่องที่ควรขบคิดก็คือว่ากำไรที่แท้จริงไม่ได้ตกถึงนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยสักเท่าไหร่หรอก เมื่อเทียบกับสัดส่วนที่ CEO หรือผู้ถือหุ้นของบริษัทวิจัยได้รับไป


ทีนี้เราลองย้อนมาพิจารณาวรรณกรรมร่วมสมัยของพวกเราดูบ้าง หากผู้อ่านได้ติดตามแวดวงนวนิยายอาจจะพอทราบว่าในหมู่คนรุ่นใหม่ นิยายแขนงหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็คือแนวอิเซไค (Isekai) ซึ่งโดยรวมแล้วพล็อตเรื่องของมันมักเล่าถึงตัวเอกที่เป็นผู้พ่ายแพ้ เป็นคนชายขอบในโลกแห่งความจริง ที่ต้องจบชีวิตลงไม่ว่าโดยอุบัติเหตุหรือโดยตั้งใจ แล้วไปเกิดใหม่ในอีกโลกหนึ่งกลายเป็นบุคคลพิเศษที่มีความสามารถสูงส่ง เป็นวีรบุรุษ ฯลฯ หรือหากจะพิจารณาในแง่ของวรรณกรรมและภาพยนตร์ไซไฟแฟนตาซี สิ่งที่เราจะพบได้จากวรรณกรรมในยุคของเรา คือการจินตนาการถึงอนาคตที่เต็มไปด้วยความมืดมน เป็นโลกดิสโทเปียที่หลายคนก็เชื่อว่าอนาคตของพวกเราอาจจะเป็นแบบในงานวรรณกรรมเหล่านั้น ผมอยากย้ำประเด็นนี้อีกครั้ง หากเราเชื่อว่าอนาคตของเราจะเป็นโลกดิสโทเปียแบบในวรรณกรรมที่เราได้ดู ก็เพราะพื้นฐานของชีวิตทางโลกแห่งความเป็นจริงของเราอำนวยให้เราเห็นแนวโน้มเป็นเช่นนั้น เช่นเดียวกันจินตนาการของผู้คนในอดีตที่มีต่ออนาคตในยุคของเรา พวกเขาคิดถึงโลกที่มีรถเหาะได้ หรือการตั้งอาณานิคมในอวกาศก็ไม่ใช่เพราะพวกเขาเพ้อเจ้อแต่เป็นเพราะพื้นฐานของชีวิตทางโลกแห่งความเป็นจริงของพวกเขาอำนวยให้เขาเห็นแนวโน้มความเป็นไปได้เป็นเช่นนั้น และระบบทุนนิยมได้เปลี่ยนเส้นทางของพัฒนาการออกจากเส้นเรื่องนั้น มาสู่อีกเส้นเรื่อง


ดังนั้นเองเราจึงแทบไม่ได้เห็นสิ่งใหม่หรือความก้าวกระโดดอะไรที่มีนัยยะสำคัญเลยในยุคสมัยของเรา สมาร์ทโฟนแบบไอโฟนที่เคยสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่เราในช่วงต้นปี 2000 ทุกวันนี้ไม่ได้มีอะไรใหม่มากไปกว่าขนาดเครื่องที่ใหญ่ขึ้น กับประสิทธิภาพกล้อง การมีรถบินได้ยังคงดูห่างไกลจนกลายครั้งเราเลิกคิดถึงมันและมองว่านั่นเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ เช่นเดียวกับความฝันของการเดินทางอย่างรวดเร็วด้วยไฮเปอร์ลูปที่กลายเป็นเรื่องเพ้อเจ้อเพราะมัน “ไม่คุ้มทุน” หรือการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างรถยนต์ไฟฟ้าล่ะ? ผมถามจริงๆ ว่าเราตื่นเต้นกับมันจริงหรือ? มันแทบไม่ต่างอะไรเลยจากการได้ของเล่นที่เปลี่ยนจากรถของเล่นไขลานมาเป็นรถของเล่นใส่ถ่าน และอันที่จริงหากพิจารณาในแง่ของภาพยนตร์ เราแทบไม่เห็นอะไรใหม่เลยนอกจากคุณภาพของอุปกรณ์การถ่ายทำและ visual effect ที่ดีขึ้น กระนั้นเองในภาพยนตร์ชุดอมตะอย่าง Star war หรือ Lord of the Ring ก็ยังมีคนลงความเห็นว่า ยานอวกาศกระป๋องแขวนสลิงในหนังยุคแรก และพวกออร์คแต่งเมคอัพของจริงแบบ Peter Jackson นั้นให้อรรถรสได้ดีกว่าภาพงดงามในภาพยนตร์ยุคหลังเสียอีก


และถ้าถามว่าระบบราชการเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องเหล่านี้ คำตอบของผมก็คือ พวกมันดำรงอยู่เพื่อปกป้องระเบียบของระบบที่เป็นอยู่ และเชื่อได้เลยว่าในกรณีที่คุณขโมยงานวิจัยสักชิ้นมาต่อยอดอันเป็นการละเมิดกรรมสิทธิ์ หรือพยายามท้าทายระบบทุนนิยมด้วยการไปพักอาศัยในบ้านที่ถูกทิ้งร้างแล้วล่ะก็ เจ้าหน้าที่รัฐจะพร้อมใจกันมาลากคอคุณได้รวดเร็วยิ่งกว่ากรณีที่คุณไปเหตุทะเลาะวิวาทเสียอีก


บทที่ 3 : แดนอุดมคติแห่งกฎระเบียบ หรือทำไมเราถึงรักระบบราชการนัก


เราอยู่ในโลกแห่งกฎและระบบราชการที่เราไม่ยังหนีไม่พ้นจากมัน กระทั่งในโลกของงานวรรณกรรมที่ต่อต้านระบบราชการ ลงท้ายยแล้วก็เป็นเพียงเครื่องมือช่วยให้ระบบราชการกลายเป็น “ปิศาจที่เลวน้อยกว่า” และช่วยให้เราสยบยอมหรือมองมันในแง่ดีขึ้นกว่าความเป็นจริง 


แต่ถึงกระนั้นก็ตาม Graeber พยายามนำเสนอต่อเราว่ามันจะมีเหตุผลอะไรบ้างที่ถึงแม้ว่าระบบราชการจะน่าเบื่อ แข็งท่อ เย็นชา ไร้ชีวิตชีวาแต่พวกเราก็ยังรักมัน ซึ่งเขาสรุปมันออกมาได้ 4 ข้อดังนี้

(1) เรารักระบบราชการเพราะมันน่าเบื่อและเย็นชา - ระบบราชการแตกต่างจากป้าข้างบ้าน หรือเพื่อนบ้านจอมสอดรู้สอดเห็นในชุมชน ความเฉยเมยและไร้ชีวิตชีวาช่วยเสริมสร้างความปัจเจกชนให้แก่เรา แบบที่เราไม่ต้องกังวลว่าจะต้องตอบคำถามแก่พนักงานห้องสมุดสาธารณะว่าทำไมถึงชอบยืมหนังสือประวัติศาสตร์ปฏิวัติมาอ่าน หรือเจ้าที่มหาวิทยาลัยที่จะไม่สอดส่องถามว่าทำไมเราเลือกเรียนคณะนี้ แทนที่จะเป็นอีกคณะ 


(2) เรารักระบบราชการเพราะมันบอกว่าตัวมันเอง “มีเหตุมีผล” - ระบบราชการเป็นสิ่งเก่าแก่ แต่อำนาจที่สนับสนุนการดำรงอยู่ของมันไม่ได้มีแต่เพียงอำนาจของความรุนแรงเท่านั้น แต่มาพร้อมการวางรากฐานทางความคิดให้คนในสังคมเชื่อเรื่องลำดับชั้นทางสังคมและระเบียบทางสังคมด้วย ในตะวันตกเรื่องเล่าทางปรัชญาและกระทั่งการอธิบายโลก หรือในคัมภีร์ทางศาสนาเองล้วนสอดแทรกไปด้วยเรื่องราวของระบบราชการและการแบ่งชั้นบังคับบัญชา สิ่งเหล่านี้ถูกอธิบายว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกสรรพสิ่งต้องอยู่ภายใต้กฎและสายการบังคับบัญชาและนั่นคือการสร้างคำอธิบายที่ “มีเหตุมีผล” ให้แก่การดำรงอยู่ของระบบราชการ 


(3) เรารักระบบราชการเพราะเชื่อว่ามันเป็นสิ่งดีที่สุดเท่าที่เราจะมีได้ - เรื่องนี้คล้ายกับที่ผมอธิบายไปก่อนหน้า งานวรรณกรรมในยุคหนึ่งจำพวกแฟนตาซีหรือไซไฟ พยายามสร้างโลกที่ปราศจากระบบราชการมาโดยย้อนไปหาสังคมยุคกลาง หรือสังคมในโลกอนาคตอันห่างไกลหรือกระทั่งในโลกคู่ขนาน แต่แทบทุกเรื่องนั้นลงท้ายเกือบจะเหมือนกันคือมันสร้างโลกที่เต็มไปด้วยความน่าตื่นตาตื่นใจ น่าทดลองไปเยี่ยมชมสักครั้ง แต่ไม่ใช่โลกที่น่าอาศัยอยู่ พูดให้ง่ายคือมันสร้างโลกที่โกลาหลและไร้ระเบียบอันน่าตื่นตาตื่นใจขึ้นมาเพื่อแสดงให้เราเห็นว่า “เห็นไหมถ้าไม่มีระบบราชการ ชีวิตพวกแกจะเป็นแบบนั้นแหละ” 


(4) เรารักระบบราชการเพราะภาพยูโทเปียของมัน - ประเด็นนี้ต่างจากข้อที่ (3) เพราะระบบราชการโดยตัวมันเองได้สร้าง “เกม” ขึ้นมา อันที่จริงอาจจะต้องกล่าวว่าเกมคือภาพอุดมคติของกฎระเบียบด้วยซ้ำ เพราะมันสร้างกฎเกณฑ์บางอย่างขึ้นมาเพื่อบังคับใช้กับทุกคน กฎเกณฑ์นั้นมีความชัดเจน ซับซ้อน แต่พอจะเข้าใจได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือกฎเหล่านี้คือเงื่อนไขสร้างเส้นทางไปสู่ชัยชนะ - ต่อให้คุณใช้สูตรโกง แต่ท้ายที่สุดคุณก็ยังต้องปฏิบัติตามกฎบางประการของเกมเพื่อไปสู่ัยชนะ เช่นในเกมวางแผนกลยุทธ์ คุณอาจใช้สูตรอมตะให้กับฝ่ายตัวเอง ใช้สูตรให้มีทรัพยากรไม่จำกัด แต่ลงท้ายแล้วคุณก็ยังต้องปฏิบัติตามกฎของเกมนั่นคือต้องทำลายฐานของคู่แข่งให้หมดเพื่อชนะเกม - ในทางเดียวกันนั้น กฎของระบบราชการก็ทำงานแบบเดียวกัน แต่มันเหมือนกันเกมไขปริศนามากกว่า ตลอดเส้นทางคุณจะพบกับปริศนามากมายและเควสย่อยเต็มไปหมด เช่น คุณอาจพบว่าต้องไปทำเควสย่อยแจ้งความก่อนเมื่อบัตรประชาชนหาย ก่อนที่จะทำเควสหลักคือทำบัตรประชาชนใหม่ได้ และพูดให้ถึงที่สุด ถ้าคุณต้องการชนะหรือเลี้ยงอุปสรรคในการติดต่อระบบราชการ สิ่งที่คุณทำได้คือเป็นผู้เล่นที่ดี เป็นไอ้โง่ที่ทำตามกฎ เพื่อแลกกับความเมตตาและกระบวนการที่ไม่วุ่นวายมากจนเกินไปนัก


ความสำคัญของการสร้างเกมโดยกฎของระบบราชการ เราต้องไม่ลืมว่ามันเป็นเกมที่ไม่น่าพิสมัยและขัดขวางจินตนาการและความเป็นไปได้อื่นๆ ลองนึกถึงประโยคหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้บอก หรือที่ผมเขียนไปข้างต้น “เราอยู่ในโลกที่เปี่ยมล้นไแด้วยกฎระเบียบจำนวนมหาศาลที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาของกฎระเบียบเก่า เพียงเพื่อมันจะก่อปัญหางี่เง่าใหม่ขึ้นมาให้ระบบราชการเสนอเรื่องออกระเบียบใหม่มาอีกครั้งทับถมกันไป” หลายครั้งเหตุผลในการออกกฎระเบียบต่างๆ นั้นมีเหตุผลสนับสนุนเพื่อจะขจัดหรือป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่จากสภาพความเป็นจริงเราก็เห็นแล้วว่าไม่เป็นเช่นนั้น - เจ้าหน้าที่รัฐยังใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ เพียงแต่ยกระดับมาอยู่ภายใต้เสื้อคลุมที่เรียกว่า “กฎหมาย” ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจได้รับการลงโทษจริงๆ จังๆ หรอกในความรับรู้ของเรา ลองนึกถึงกรณีง่ายๆ รอบตัว เช่นการซ้อมทรมานทหารเกณฑ์จนตาย, การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมจนบาดเจ็บหรือพิการ ฯลฯ 


นี่คืออำนาจที่แผ่ขยายออกมาของระบบราชการและกฎระเบียบแบบระบบราชการ ที่ไม่เพียงแต่บอกเราว่ามันคือทางเลือกเดียวที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่มันยังหลอกล่อเราอยู่เสมอว่าตัวมันเองสามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองให้ดีขึ้นได้ด้วยการผลิตซ้ำตัวเอง (ออกกฎระเบียบเพิ่ม, ปฏิรูป) ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นแต่เพียงการเพิ่มความแนบเนียนให้กับการใช้อำนาจตามอำเภอใจของตัวมันเองหรือชนชั้นปกครองเท่านั้น


ภาคผนวก : เรื่องแบทแมน และปัญหาอำนาจตามรัฐธรรมนูญ


ผมคิดว่าจะไม่เขียนเล่ารายละเอียดของหัวข้อนี้เพราะเท่าที่เขียนมาก็กินพื้นที่และเวลาของผู้อ่านมาเยอะมากแล้ว จึงอยากขอทิ้งท้ายว่าส่วนภาคผนวกนั้นเป็นส่วนที่สนุกมาก และเกือบจะเป็นเหมือนบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดในความเรียงขนาดยาวเล่มนี้ ดังนั้นผมจึงไม่ขอเล่ารายละเอียดของมัน แต่อยากจะขอให้ผู้อ่านที่อดทนอ่านมาจนถึงตอนนี้ลองไปค้นหาความน่าสนใจของมันต่อ ในหนังสือเล่มนี้ด้วยตนเองครับ.



บทความที่ได้รับความนิยม