พรรคประชาชนกับการเลือกตั้งท้องถิ่น (1)
พรรคประชาชนกับการเลือกตั้งท้องถิ่น (1)
จักรพล ผลละออ
25 ธันวาคม 2567
“ทำไมพรรคประชาชนต้องลงแข่งสนามเลือกตั้งท้องถิ่น”
ผมอยากจะขอเริ่มข้อเขียนชิ้นนี้ด้วยคำถามง่ายๆ ข้างต้นซึ่งผมเชื่อว่าเป็นคำถามที่อยู่ในใจของใครหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนหมู่ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชน ไปจนถึงสมาชิกพรรค ผู้ปฏิบัติงาน อาสาสมัคร ทีมงานจังหวัด และกระทั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ซึ่งอันที่จริง คำถามข้างต้นนั้นควรจะต้องขยายให้ได้ใจความชัดเจนขึ้นดังนี้
“ทำไมพรรคประชาชนต้องลงแข่งสนามเลือกตั้งท้องถิ่นแบบปูพรมแทบทุกที่ ทั้งที่หลายสนามที่ผ่านมาก็พ่ายแพ้มาโดยตลอด แถมที่จะลงแข่งรอบนี้ก็ใช่ว่าจะมีโอกาสชนะ”
ไม่ว่าเราจะชอบใจหรือไม่ เห็นด้วยหรือเห็นต่างกันในเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่าข้อความคำถามข้างต้นนั้นคือความจริงที่ปรากฏอยู่ในใจของผู้สนับสนุนพรรคประชาชนจำนวนไม่น้อย ซึ่งผมเองก็อยากจะใช้พื้นที่นี้อภิปรายเพื่อนำเสนอมุมมองและเปิดพื้นที่ถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็นดังกล่าว ซึ่งลงท้ายแล้วมันอาจจะช่วยคลี่คลายความสงสัยของหลายท่าน หรืออาจจะนำไปสู่การสร้างบทสนทนาใหม่ ที่ทำให้เรามองเห็นอะไรใหม่ๆ ร่วมกันได้มากขึ้น
ประการแรกที่สุดผมคิดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภารกิจของพรรคประชาชน ซึ่งอันที่จริงก็ต้องบอกว่าเป็นภารกิจต่อเนื่องของพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล มาจนถึงพรรคประชาชน นั่นคือการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน การกระจายอำนาจ และการปักธงประชาธิปไตย
ในทางการเมืองเมื่อพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชน ยังไม่มีโอกาสเป็นรัฐบาล ย่อมเท่ากับว่าพรรคยังไม่มีพื้นที่ให้แสดงศักยภาพในด้านการบริหารราชการอย่างชัดเจน นโยบายต่างๆ ที่พรรคเคยหาเสียงเอาไว้ แม้จะสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นร่างกฎหมายเพื่อผลักดันผ่านกลไกของรัฐสภาได้ แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้นในแง่นี้เองสนามเลือกตั้งท้องถิ่นจึงเป็นพืนที่สำคัญอย่างยิ่งที่พรรคจะสามารถใช้เพื่อดำเนินงานให้เป็นที่ประจักษ์ว่านโยบายหลายอย่างของพรรคนั้นสามารถดำเนินการได้จริง และพรรคประชาชนสามารถบริหารราชการได้ ไม่ได้เป็นแค่พรรคเด็กวัยรุ่นหัวร้อน เก่งโวหารวาทกรรม
แน่นอนว่าการบริหารงานระดับท้องถิ่นและการบริหารระดับชาตินั้นอาจจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญประการถัดมาก็คืออำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นใกล้ชิดและส่งผลกระทบโดยตรงอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การศึกษา หรือสาธารณสุขขั้นต้น การเข้าสู่อำนาจในสนามท้องถิ่นจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการเข้าถึงโอกาสในการแสดงศักยภาพการบริหารของพรรคประชาชน แต่เป็นการเข้าสู่อำนาจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน หรือก็คือการแก้ปัญหาปากท้องและปัญหาในชีวิตประจำวันให้แก่ประชาชนนั่นเอง
แต่ก็แน่นอนครับว่า ในทางการเมืองนั้นผู้สนับสนุนพรรคประชาชนหลายท่าน รวมถึงนักวิเคราะห์การเมืองหลายท่านก็ให้ความเห็นตรงกันว่าความพ่ายแพ้ที่ผ่านมาและที่อาจจะเกิดขึ้นในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นของพรรคประชาชนนั้น จะส่งผลอย่างยิ่งต่อ “โมเมนตัมทางการเมือง” ของพรรคและอาจจะส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงความเชื่อมั่นในสนามเลือกตั้งใหญ่ปี 2570 ด้วย ซึ่งผมได้อ่านความเห็นและข้อเสนอแนะจำนวนมากแล้วก็คิดว่ามีบางประเด็นที่ควรหยิบยกขึ้นมาอภิปรายเพื่อถกเถียงและแลกเปลี่ยนกัน
ประการแรก พรรคไม่ควรส่งสนามท้องถิ่นหากรู้ว่าไม่ชนะ หรือหากจะส่งจริงๆ ก็ไม่ควรส่งแบบปูพรม ควรส่งเฉพาะจังหวัดที่มั่นใจว่าจะชนะแน่นอนเท่านั้น
ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ผมไม่สู้จะเห็นด้วยนัก เพราะหากว่ากันตามตรงแล้ว เราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้อย่างจริงจังแน่ชัดหรอกครับ ว่าสนามไหนที่จะชนะเลือกตั้งแน่นอนชัดเจน พูดกันอย่างตรงไปตรงมา บรรดานักการเมืองแบบเก่า นักการเมืองบ้านใหญ่ที่มีอิทธิพล มีเครือข่ายหัวคะแนนแน่นหนาที่มั่นใจนักหนาว่าจะชนะเลือกตั้งอย่างแน่นอน ก็พ่ายแพ้หมดท่าไปหลายที่แบบคาดไม่ถึง กลับกันพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้ง 2566 ก็ชนะมาแบบหักปากกาเซียนไปหลายต่อหลายเจ้า แม้ไม่มีเครือข่ายหัวคะแนน และไม่ได้ใช้เงินซื้อเสียง
พูดกันอย่างตรงไปตรงมา สนามเลือกตั้งท้องถิ่นเท่าที่พรรคประชาชนส่งผู้สมัครลงแข่งครั้งนี้ หลายพื้นที่ที่หากดูคะแนนความนิยมย้อนหลังจากการเลือกตั้ง 2566 ก็ดูมีแนวโน้มจะชนะหลายพื้นที่ แต่ก็ไม่มีอะไรกรันตีได้อย่างจริงจังว่าเราจะชนะแน่นอน เพราะปัจจัยของการเลือกตั้งมีหลายประการและเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้หรอกครับว่าพื้นที่ไหนจะชนะหรือไม่ชนะ
แต่แน่นอนครับ ผมอยากจะชี้ให้เห็นความจำเป็นและข้อดีอีกด้านหนึ่งของการส่งผู้สมัครลงแข่งขัน แม้จะรู้ว่าไม่มีโอกาสชนะ หรือต้องทำงานกันอย่างหนักหนาสาหัสมากเพื่อจะได้มีโอกาสชนะดังนี้
(1) การลงแข่งขันในสนามท้องถิ่นทำให้ทีมงานของพรรคได้ทำงานมากขึ้น
การรณรงค์หาเสียงนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการขึ้นรถแห่ คิดบทปราศรัย หรือการเดินแจกแผ่นพับใบปลิวเท่านั้น แต่มันยังมีงานบริหารจัดการ งานอำนวยการ งานวางแผน ฯลฯ อีกมากมาย สำหรับพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชน ที่ทีมงานของพรรคล้วนแล้วแต่เป็นอาสาสมัคร เป็นคนหน้าใหม่ที่เข้ามาทำงานการเมือง หลายท่านมีความเชี่ยวชาญมีความสามารถเฉพาะด้านมากมาย แต่สิ่งที่พวกเขาขาดคือประสบการณ์ทางการเมือง การลงแข่งในสนามเลือกตั้งที่พาให้องคาพยพทั้งหมดเข้ามาทำงานร่วมกันในสนามเลือกตั้งนั้น ก็เปรียบเสมือนโรงเรียนการเมืองภาคปฏิบัติ ให้ผู้ปฏิบัติงานของพรรคได้ทดลองทำงานอย่างจริงจัง ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานจริง และนั่นจะกลายเป็นบทเรียนแก่อาสาสมัครและผู้ปฏิบัติงานที่จะช่วยยกระดับการทำงานของพรรคให้ดียิ่งขึ้นไปอีกในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป
(2) โอกาสในการรณรงค์ทางความคิด
พูดกันตามตรงในบรรยากาศทั่วไปนั้น คนจำนวนมากมักมีแนวโน้มไม่ติดตามการเมือง และไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง การรณรงค์ต่างๆ ย่อมมีความยากลำบาก แต่ในสถานการณ์เลือกตั้ง ประชาชนจะถูกดึงเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ประชาชนจะยินดีรับฟังข้อเสนอทางนโยบายและติดตามการหาเสียงมากขึ้น ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสสำคัญของพรรคประชาชนในการเข้าไปทำงานทางความคิด นำเสนอนโยบายและวิสัยทัศน์ของพรรคเพื่อสร้างแนวร่วมและขยายเครือข่ายทางการเมืองของพรรคให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และในทางกลับกันนี่ก็จะเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้ปฏิบัติงานของพรรคได้ลงไปเก็บเกี่ยวรับหังข้อมูล ประเด็นปัญหาต่างๆ จากพี่น้องประชาชนเพื่อนำกลับมาทบทวนและวิเคราะห์ข้อเท็จจริง อันจะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาและผลิตนโยบายใหม่ๆ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้มากขึ้นไปอีก
(3) ปักธงประชาธิปไตย
ต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่านับตั้งแต่การก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชน นั้นสภาพการเมืองไทยมีความเปลี่ยนแปลงสำคัญประการหนึ่งคือ พรรคสามารถดึงความสนใจของประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากขึ้น พูดกันอย่างไม่อายสนามเลือกตั้งที่พรรคประชาชนลงแข่งขันมักจะคึกคัก เกิดกระแส เกิดความสนใจ และทำให้คนที่อาจจะเคยไม่สนใจยินดีกลับไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในการเลือกตั้งไม่ว่าจะออกไปใช้สิทธิ์เพราะอยากให้พรรคประชาชนชนะ หรือออกไปใช้สิทธิ์เพราะกลัวพรรคประชาชนชนะก็ตาม
การชักจูงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในการเลือกตั้งมากขึ้น ผ่านการที่พรรคประชาชนลงไปเป็นผู้เล่น เป็นผู้แข่งขันมีความสำคัญในแง่ที่ว่ามันทำให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยโดยตรง ทำให้คนที่ชอบพรรคประชาชนรู้สึกว่าเขาสนับสนุนพรรคได้ด้วยการไปลงคะแนน และก็ทำให้คนที่ไม่ชอบพรรคประชาชนรู้ว่าเขาชนะพรรคการเมืองที่เขาไม่ชอบได้ด้วยการไปออกเสียงลงคะแนน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอำนาจนอกระบบ
ในระยะยาวบรรยากาศเช่นนี้จะช่วยลงหลักปักฐานกฎเกณฑ์กติกาและวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยให้หยั่งรากลึกมากยิ่งขึ้น แต่กลับกันลองนึกสภาพการเมืองที่พรรคประชาชนไม่ลงแข่งขัน ประชาชนก็จะได้แต่รอการเลือกตั้ง ส.ส. แบบ 4 ปีครั้ง ในขณะที่สนามการเมืองท้องถิ่นหลายระดับถูกผูกขาดเอาไว้ด้วยนักการเมืองบ้านใหญ่ หรือเครือข่ายผู้มีอิทธิพลกลุ่มเดิมๆ ในสภาพการณ์เช่นว่านี้ประชาชนก็จะแปลกแยกออกจากวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยมากขึ้นเหมือนเช่นที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั่นเอง
ประการที่สอง ส่งแข่งขันเยอะกระจัดกระจายหลายสนาม ถ้าแพ้ก็จะส่งผลเสียต่อพรรค
นี่เป็นอีกประเด็นที่ผมไม่สู้จะเชื่อนัก หลายเหตุผลนั้นผมได้อภิปรายไปแล้วข้างต้น แต่อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ ผมไม่เชื่อว่าคนที่ชื่นชอบพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชน จะเลิกการสนับสนุนพรรค หรือไม่เลือกพรรคการเมืองนี้แล้ว ด้วยเหตุผลว่า “มันแพ้เลือกตั้ง อบจ. ดังนั้นฉันจะไม่ลงคะแนนให้มันแล้ว”
ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติธรรมดา หากพูดกันแบบไม่เกรงใจกันเลย ผมคิดว่าชัยชนะจากการเลือกตั้ง 2566 ทำให้หลายคนลำพองและประมาท เกิดความเชื่ออยู่ลึกๆว่าเมื่อชนะเลือกตั้งใหญ่มาแล้ว ลงสนามไหนก็ต้องชนะ ถ้าไม่ชนะคือเสียหน้า ยอมรับไม่ได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้อันตราย สิ่งสำคัญกว่าการทำงานเพื่อชัยชนะ คือเราต้องแพ้ให้เป็น คือแพ้แล้วต้องมาสรุปบทเรียน เก็บเกี่ยวประสบการณ์และประโยชน์จากความพ่ายแพ้ให้ได้ว่าทำไมเราจึงพ่ายแพ้ เราผิดพลาดอะไรตรงไหน ทำงานพลาดไปอย่างไรบ้าง
ลองดูกรณีนักการเมืองของพรรคประชาชนในปัจจุบันก็ได้ครับ ส.ส.คริษฐ์ ปานเนียม ส.ส.แบบแบ่งเขตจังหวัดตาก หรือ ส.ส.อานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย ส.ส.แบบแบ่งเขตจังหวัดสมุทรสงครามนั้น ในอดีตเคยลงสมัครแข่งขันในสนามท้องถิ่นกับคณะก้าวหน้าแล้วพ่ายแพ้มา แต่ก็สรุปบทเรียนแล้วพัฒนาการทำงานจนสามารถชนะเลือกตั้งแบบแบ่งเขตได้
ยังมีอีกหลายประเด็นที่ผมอยากเขียนอภิปราย แต่หากจะยกมาไว้ในขข้อเขียนชิ้นนี้ทั้งหมดก็เกรงว่าจะเยิ่นเย้อมากเกินไป ดังนั้นจึงอาจจะขอยกไปไว้ในบทความตอนหน้า ซึ่งแน่นอนว่ามีเนื้อหาที่ผมอยากสื่อสารถึงการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแนะหรือข้อวิพากา์วิจารณ์ที่น่าจะเป็นประโยชน์ในช่วงเวลาอีก 1 เดือนที่เหลือ
สุดท้ายนี้ผมอยากจะส่งข้อความสั้นๆ ปิดท้ายข้อเขียนในตอนแรกถึงผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชน ไปจนถึงสมาชิกพรรค ผู้ปฏิบัติงาน อาสาสมัคร ทีมงานจังหวัด และกระทั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ที่อาจจะยังกังวลเกี่ยวกับชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ที่อาจจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมาถึง
ผมอยากชวนพวกเราย้อนกลับไปถึงวันที่ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ว่าเป้าหมายของการก่อตั้งพรรคการเมืองและเป้าหมายที่เราเข้ามาทำงานร่วมกัน เดินทางร่วมกันนั้นก็เนื่องมาจากเป้าหมายที่เราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีกว่าเดิม ชัยชนะในการเลือกตั้งนั้นเป็น “ทางผ่าน” เป็น “เครื่องมือ” ไปสู่เป้าหมาย พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องคาดหวังชัยชนะในการเลือกตั้งนะครับ เราต้องช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่เพื่อชัยชนะในการเลือกตัง เพียงแต่อย่ามุ่งมั่นโดยมีเป้าหมายเพียงแค่การชนะเลือกตั้ง อย่าหลงลืมเป้าหมายปลายทางในการเปลี่ยนประเทศ ชัยชนะและความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเป็นเพียงทางผ่านไม่ใช่ทั้งจุดหมายปลายทางหรือจุดจบของการเดินทางเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยครับ.
อ่านข้อเขียนตอนที่สอง พรรคประชาชนกับการเลือกตั้งท้องถิ่น (2)