เวลาในโลกทุนนิยม

 


“เวลา” ในโลกทุนนิยม

Time After Capitalism

By Miya Tokumitsu

แปลและเรียบเรียง จักรพล ผลละออ

 

ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของบทความนี้ เราอยากให้คุณลืมมุมมองเก่าของคาร์ล มาร์กซ์ที่ว่าด้วยวิถีชีวิตอันรุ่มรวย ที่เราออกไปทำกิจกรรมล่าสัตว์ในตอนเช้า นั่งชิลตกปลายามบ่าย และนั่งครุ่นคิดวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆในช่วงค่ำหลังอาหารเย็นไปเสียก่อน เพราะสำหรับคนจำนวนมากแล้ว ลำพังการได้ใช้ชีวิตที่สามารถเข้านอนได้ทันทีเมื่อเหนื่อยล้า และตื่นขึ้นมาอย่างสดใสหลังได้พักผ่อนเต็มอิ่มแบบที่ไม่ต้องอดตาหลับขับตานอนก็ถือเป็นเรื่องที่ยากราวกับวิถีชีวิตในอุดมคติแล้ว ปัจจุบันนี้เป็นเวลาหนึ่งร้อยปีโดยประมาณหลังจากที่สหรัฐอเมริการับเอาระบบเวลาออมแสง (Daylight saving time) อันเป็นระบบการปรับเวลาที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อรีดเอากำลังแรงงานออกมาจากชนชั้นแรงงานให้ได้มากที่สุดมาใช้


ในโลกทุนนิยมที่ให้ความสำคัญกับการผลิตสร้างกำไรหรือมูลค่าส่วนเกินจากการผลิตเหนือสิ่งอื่นใดนี้ เราจำเป็นจะต้องจัดการชีวิตตนเองให้อยู่ในระเบียบที่จะสามารถครองความมั่นคงทางเศรษฐกิจและรักษาหน้าที่การงานที่มั่นคงของตัวเองเอาไว้ และในแง่นี้เองวาทกรรมประดิษฐ์เกี่ยวกับมโนทัศน์เรื่องจริยธรรมการทำงาน หรือมโนทัศน์เรื่อง “ทำในสิ่งที่รัก” จึงเป็นเพียงถ้อยคำประดิษฐ์ที่ทำให้เราไขว้เขวและหลุดพ้นออกจากการตระหนักถึงข้อเท็จจริงอันแสนโหดร้ายของชีวิตการทำงาน


การสร้างความยืดหยุ่นในระยะเวลาการทำงาน
ของกลุ่มอาชีพนักข่าวและนักออกแบบกราฟฟิค
กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกจ้างแรงงานกลุ่มนี้ต้องอุทิศเวลาชีวิตจำนวนมาก
เพื่อผลิตสร้างมูลค่าที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนให้แก่บริษัท
ภายใต้ความหวังว่าการอุทิศตนเองเช่นนี้
จะทำให้เขามีความมั่นคงในการจ้างงานมากขึ้น


ภาระผูกพันในการผลิตสร้างมูลค่าส่วนเกินหรือกำไรนี้เองเป็นสิ่งที่ก่อรูปและกำหนดกรอบความคิดของเราที่มีต่อเวลา เราต้องพยายามไล่ติดตามงานปริมาณมหาศาลแบบนาทีต่อนาที พร้อมกันนั้นเราต้องย้ำเตือนตัวเองในทุกๆวัน ตลอดเวลาว่าเรายังมีสิ่งจำเป็น อย่างอาหารแมวเพียงพอเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเบียดเสียดคนเข้าไปซื้อสินค้าในซุเปอร์มาเก็ตตอน 6 โมงเย็น และในทุกๆปี เราต้องจัดสรรเวลาสำหรับการเตรียมตัวทำงานในทุกๆวัน พร้อมกับสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานของตัวเองโดยเท่าเทียมกันต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี ใครก็ตามที่เคยมีประสบการณ์ต้องยกเลิกนัดสังสรรค์หรือไปเที่ยวกับเพื่อนเพื่อทำงาน หรือต้องเอาลูกเล็กของตนเองไปฝากเลี้ยงเพื่อทำงาน หรือต้องกล้ำกลืนฝืนทนทำงานทั้งที่กำลังปวดหัวไมเกรน ย่อมรับรู้ดีว่าความต้องการผลิตสร้างกำไรของระบบทุนนิยมเป็นสิ่งที่ไม่อาจให้อภัยได้


ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชนชั้นแรงงานต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตาย ใช้เลือดเนื้อแลกมาซึ่งเส้นแบ่งว่า บรรดานายจ้างและชนชั้นนายทุนจะสามารถกำหนดกรอบชั่วโมงการทำงานต่อวันของพวกเขาได้เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ และในทุกวันนี้ก็อย่างที่เราทุกคนทราบกันดีว่าขบวนการชนชั้นแรงงานกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ระส่ำระสาย และนั่นคือการเปิดโอกาสให้ความกระหายแสวงหากำไรของระบบทุนนิยมได้เข้ามาแทรกแซงและมีอำนาจเหนือเวลาและชีวิตของชนชั้นแรงงาน


วัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาแพร่ขยายไปในหลายพื้นที่ เช่นในภาคการเงินและอุตสาหกรรมก้าวหน้า ซึ่งบ่อยครั้งวัฒนธรรมเหล่านี้สร้างค่านิยมให้พนักงานหรือลูกจ้างรู้สึกว่าการทำงานล่วงเวลานั้นคืออัตลักษณ์ของความเป็นมืออาชีพ และการที่แรงงานลูกจ้างต้องทำงานมากถึง 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ราว 14 ชั่วโมง/วัน กรณีทำงาน 5 วัน หรือราว 11.6 ชั่วโมง/วัน กรณีทำงาน 6 วัน) ก็กลายเป็นเรื่องปกติสามัญที่ไม่ใช่สัญญาณบ่งบอกว่าบริษัทต้องหาพนักงานเพิ่มเพื่อแบ่งเบาภาระงานอีกต่อไป


การสร้างความยืดหยุ่นในระยะเวลาการทำงานของกลุ่มอาชีพนักข่าวและนักออกแบบกราฟฟิคกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกจ้างแรงงานกลุ่มนี้ต้องอุทิศเวลาชีวิตจำนวนมากเพื่อผลิตสร้างมูลค่าที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนให้แก่บริษัท ภายใต้ความหวังว่าการอุทิศตนเองเช่นนี้จะทำให้เขามีความมั่นคงในการจ้างงานมากขึ้น ขณะที่ตัวลูกจ้างหรือผู้ผลิตงานเองนั้นต้องใช้ต้นทุนจำนวนมากในการผลิตสร้างงานต่างๆทั้งข้อเขียน และงานออกแบบซึ่งไม่รวมอยู่ในภาระผูกพันที่นายจ้างจะต้องจ่ายชดเชยให้


ขณะที่ในภาคการจ้างงานอื่น โดยเฉพาะในส่วนของงานบริการและการค้าปลีก ก็อยู่ภายใต้ระเบียบการทำงานแบบทันเวลาทันที (Just-in-time) อันกลายเป็นระเบียบการทำงานที่ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถรู้ได้ว่าพวกเขาต้องทำงานต่อเนื่องยาวนานเท่าไหร่ต่อวัน (เช่น ช่วงที่ใกล้เวลาเลิกงานกลับมีลูดค้าเข้ามาใช้บริการในจำนวนเยอะมาก แรงงานอาจจำเป็นต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อจัดการให้หน้างานบริการนั้น “เสร็จทันเวลาทันที”) ปัญหาสำคัญก็คือคนงานในกิจการเหล่านี้คือแรงงานค่าจ้างราคาถูกที่พวกเขาไม่สามารถนำลูกเล็กๆของตัวเองไปฝากเลี้ยงกับสถานรับเลี้ยงเด็กได้ นอกจากนี้พวกเขายังไม่สามารถซื้อตั๋วรถขนส่งสาธารณะแบบสัปดาห์ หรือวางแผนกิจกรรมล่วงหน้ากับเพื่อนหรือครอบครัวได้เลย บ่อยครั้งที่แรงงานกลุ่มนี้ต้องติดอยู่ในพื้นที่ทำงานหรือสถานที่ใกล้เคียงที่ทำงานและผลาญเวลาจำนวนไม่น้อยไประหว่างการรอเข้ากะทำงาน ทั่งที่เวลาเหล่านี้ควรเป็นเวลาสำหรับการใช้พักผ่อนอยู่ที่บ้านกับครอบครัว


ระบบโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจของเรากำลังดำเนินการไปโดยใช้ตารางเวลาอันสับสนวุ่นวายน่าเวียนหัวเพื่อที่จะลดทอนและปฏิเสธการมีเวลาส่วนตัวในชีวิตของเรา คำถามก็คือแล้วเราจะออกจากกรอบเวลาในระบบแบบปัจจุบันนี้อย่างไร หรือกรอบเวลาที่ปราศจากการแสวงหากำไรนั้นจะเป็นอย่างไร?


ภายใต้ระเบียบของระบบตลาดระดับโลกที่พยายามเข้ามา
กำหนดชีวิตเราทุกย่างก้าว
การมีเวลาว่างภายใต้ระบบนี้ย่อมสร้างสภาวะแปลกแยก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันตอกย้ำกระแทกกระทั้นอย่างรุนแรง
ต่อบรรดากลุ่มคนชายขอบที่เป็นผู้พ่ายแพ้ในระบบทุนนิยม


ในสังคมที่เป็นอิสระและหลุดพ้นออกจากเพดานของการผลิตสร้างกำไร ช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนนั้นย่อมจะถือเป็นศูนย์กลางในชีวิตของมนุษย์ แต่ในปัจจุบันในสังคมทุนนิยมนั้นเราตกอยู่ภายใต้กรอบความคิดว่าเวลาว่างและความเกียจคร้านเป็นสิ่งเดียวกัน และความเกียจคร้านนั้นคือความผิดบาปและน่าละอาย หากแต่เราควรตระหนักว่าเวลาว่างไม่มีความหมายเช่นนั้น หากเราพิจารณาให้ดีเราจะพบว่ามีบางสังคมที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการมีเวลาว่างที่พ้นจากการทำงาน เช่น ในภาษาละติน คำที่มีความหมายสื่อถึง “ธุรกิจ” คือคำว่า negotium นั้นมีรากของคำมาจากการผสมคำสองคำเข้าด้วยกัน คือคำว่า otium ที่หมายถึงช่วงเวลาว่าง และคำว่า ngo อันเป็นคำอุปสรรคที่แปลว่าไม่ ดังนั้นคำว่า negotium ในภาษาละตินที่หมายถึง “ธุรกิจ” จึงมีรากความหมายจริงๆว่าหมายถึงกิจกรรมที่ไม่ใช่การใช้เวลาว่าง ในแง่นี้เองเราย่อมเห็นว่าภาษาละตินให้ความหมายอธิบายถึงธุรกิจในความหมายเชิงลบ ธุรกิจในภาษาละตินจึงหมายถึงกิจกรรมทางโลกที่มนุษย์คนหนึ่งต้องลงมือทำในช่วงเวลาที่เขาไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมสังสรรค์หรือกิจกรรมการใช้ชีวิต แน่นอนเราไม่ได้ปรารถนาจะย้อนกลับไปมีชีวิตแบบสังคมโรมันโบราณ ในสังคมปิตาธิปไตย สังคมชนชั้นอภิสิทธิ์ และสังคมที่มีการค้าขายทาส หากแต่เมื่อเราปรารถนาถึงสังคมที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมสิ่งที่เราควรทำคือการย้อนกลับไปดึงเอาความคิดเรื่องเวลาว่างของสังคมโรมันกลับมาปรับใช้อย่างซีเรียสมากขึ้น


เวลาว่าง ในสมัยใหม่นั้นควรจะต้องนับรวมเอาช่วงเวลาที่ใช้สำหรับการทำกิจกรรมที่สร้างเสริมประโยชน์หรือเป็นประโยชน์ ตลอดจนรวมถึงเวลาที่ใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจเข้าไว้ด้วย แทนที่เราจะเชื่อและมองว่าการปล่อยทิ้งเวลาว่างนั้นคือเรื่องผิดบาป เราควรกลับมายืนยันว่าการใช้เวลาว่างไม่ว่าจะใช้ทำกิจกรรมหรือการพักผ่อนเอ้อละเหยนั้นล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องธรรมชาติในชีวิตที่มนุษย์ทุกคนล้วนเลยผ่านและกระทำมาแล้วทั้งสิ้น เหมือนที่ Paul Lafargue เสนอเอาไว้เมื่อสิบปีที่ผ่านมาในหนังสือเรื่อง “สิทธิในการขี้เกียจ” (The Right to be Lazy)


อันที่จริงควรกล่าวด้วยว่าสิ่งมหัศจรรย์ทั้งหลายนั้นจะสามารถเกิดขึ้นได้ก็เมื่อเราปล่อยความคิดของเราได้ใช้เวลาล่องลอยไปคิดเรื่องต่างๆ ตัวอย่างเช่น Peter Higgs นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1980 จากการค้นพบอนุภาคมูลฐาน เขากล่าวยกความดีความชอบในการค้นพบเรื่องดังกล่าวว่าเกิดจาก “ความเงียบและความสงบ” และชี้ว่าวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่พยายามกดดันให้นักวิชาการผลิตสร้างงานวิชาการอย่างเอาเป็นเอาตายนั้นเป็นอุปสรรคที่ทำให้เขาอาจจะพลาดการค้นพบเรื่องนี้ไปได้ และอันที่จริงมันอาจกลายไปเป็นอุปสรรคขัดขวางตัวเขาจากการทำงานในสายอาชีพนักวิชาการไปเลยด้วยซ้ำ


อย่างไรก็ตาม เราควรจะต้องปกป้องการไม่ทำงานจากบรรดากลุ่มคนที่พยายามจะแย่งชิงเอาเวลาว่างของเราไปใช้เพื่อการแสวงหากำไร แน่นอนว่าเวลาว่างหรือการไม่ทำงานของเราอาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์หรือก่อให้เกิดการค้นพบอันยิ่งใหญ่แบบกรณีของ Higgs เสมอไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะมีคุณค่าน้อยกว่าโดยตัวมันเอง อันที่จริงมนุษย์เราจะไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังใช้เวลาชีวิตอย่างไร้ค่าหรือผลาญเวลาเล่นไปวันๆ หากว่าเราไม่ถูกขนาบถากถางด้วยความคิดที่คอยย้ำเตือนว่าเราต้องพยายามทำสิ่งอื่น ในแง่นี้เองก็น่าสนใจว่ามุมมองเรื่องเวลาว่างของเราจะเป็นเช่นไรหากเราสามารถเป็นอิสระจากการถูกตอกย้ำให้ต้องทำบางสิ่งอยู่ตลอดเวลา


ภายใต้ระเบียบของระบบตลาดระดับโลกที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการกำหนดชีวิตเราทุกย่างก้าว การมีเวลาว่างภายใต้ระบบนี้ย่อมสร้างสภาวะแปลกแยกให้แก่เราได้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันตอกย้ำกระแทกกระทั้นอย่างรุนแรงต่อบรรดากลุ่มคนชายขอบที่เป็นผู้พ่ายแพ้ในระบบทุนนิยม ดังเช่นที่ Bruce ONeill เขียนอธิบายเอาไว้ในงานของเขาเรื่อง The Space of Boredom: Homelessness in the Slowing Global Order อันเป็นงานที่เขาทำการศึกษาชุมชนคนไร้บ้านในบูคาเรสต์ (Bucharest) เมืองหลวงของโรมาเนีย ซึ่งในช่วงเวลาสองทศวรรษหลังการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ความเจริญก็ถดถอยและลดหายไปจากชาวโรมาเนีย กีดกันให้ชาวโรมาเนียจำนวนมากกลายเป็นคนชายขอบที่พ้นออกจากสังคมทุนนิยมแห่งการผลิตและการบริโภค


เราจำเป็นต้องยึดครองช่วงเวลาอันว่างเปล่าและเฉื่อยชานี้ และประกาศอ้างสิทธิ์เหนือช่วงเวลานี้แก่ตัวเราเอง รวมทั้งพัฒนาหนทางในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ไม่ได้จัดวางศูนย์กลางอยู่บนการบริโภคสินค้า หากมันเป็นความจริงว่าโลกของเรากำลังมีงานให้ทำน้อยลง นั้นแปลว่าเราควรได้รับเวลาอาจจะเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนคืนกลับมาในฐานะเวลาว่างสำหรับทำกิจกรรมอื่น พร้อมๆกันกับที่เราจะต้องสำรวจให้มั่นใจว่ามนุษย์ทุกคนจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


แน่นอนว่า เพื่อนของเราจำนวนมากมีความสุขในการใช้เวลาว่างเพื่อทำกิจกรรมที่ก่อประโยชน์ เช่น การทำงานศิลปะ การร่วมฝึกสอนกีฬาให้กับเยาวชน, ทำอาหาร หรือกิจกรรมอื่นๆ เรื่องที่เราต้องยอมรับก็คือเหตุผลหลักที่ทำให้งานอดิเรกเหล่านี้กลายเป็นสิ่งเพลิดเพลินก็เพราะมันเป็นอิสระจากกรอบความคิดเรื่องการแสวงหากำไร มันเป็นกิจกรรมที่เราเลือกที่จะทำมันเองด้วยความสมัครใจอย่างเต็มที่ และมันเป็นกิจกรรมที่ยินดีให้เราได้ทดลอง, ล้มเหลว, เลิกทำ หรือลองทำมันใหม่อีกครั้งก็ได้


ปัจจุบันนี้ กิจกรรมยามว่างและงานอดิเรกถูกบีบให้กลายเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของกิจกรรมขนาดเล็กในห้วงเวลาที่ยังไม่ถูกยึดครองโดยงานประจำและการทำกิจวัตรอื่นที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ กระนั้นก็ตามกิจกรรมอดิเรกนี้ก็กลายไปเป็นกิจกรรมที่มีเฉพาะกลุ่มคนที่มีเงินมากพอเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงได้ ทั้งที่จริงแล้วเราวรขยายขอบเขตของกิจกรรมเหล่านี้ออกไปเพื่อให้คนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยสามารถเลือกที่จะเข้าถึง หรือทดลองทำมันได้ทุกเมื่อที่พวกเขาต้องการทำหรือฝึกฝน


ไม่ใช่ทุกสรรพสิ่งจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตยุคหลังทุนนิยมของเรา เพราะเรายังคงมีความจำเป็นต้องทำการเพาะปลูกเพื่อผลิตอาหาร เด็กๆยังคงต้องเรียนหนังสือ และสิ่งปลูกสร้างยังคงต้องได้รับการบำรุงรักษา การเสนอให้ขยายกรอบเวลาว่างในชีวิตไม่ได้หมายความว่าพวกเราจะละทิ้งความรับผิดชอบต่อภารกิจทางสังคมเหล่านี้ไป หากแต่มันหมายความว่าเรากำลังปฏิเสธการควบคุมเวลาในชีวิตของเราจากการแสวงหากำไร ในแง่นี้เองเราจำเป็นจะต้องกลับมาพิจารณาและตั้งคำถามถึงการจัดสัดส่วนเวลาใหม่ในทิศทางที่เราจะสามารถแบ่งสรรเวลาส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมส่วนรวมพร้อมกับเปิดทางให้ชนชั้นแรงงานสามารถมีอำนาจเหนือการกำหนดเวลาและชะตาชีวิตของตนเองได้


ที่ผ่านมาเราล้มเลิกและละทิ้งความต้องการและความปรารถนาส่วนตัวของเราเพื่อจะไปทำงาน แต่ครั้งนี้เราจะล้มเลิกและละทิ้งความปรารถนาในการแสวงหากำไรของชนชั้นนายทุน เพื่อส่งเสริมความผาสุกและความเป็นอยู่โดยรวมของสังคมแทน เป้าหมายของเรานั้นไม่ใช่การปล่อยให้ปัจเจกบุคคลทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ หากแต่เป็นการสร้างระบบระเบียบใหม่ที่จะสนับสนุนให้สังคมส่วนรวมทั้งหมดเจริญก้าวหน้าไปด้วยกันโดยปราศจากการควบคุมจากการแสวงหากำไร


ในสังคมใหม่นี้เราจะยังคงใช้ชีวิตการทำงานคล้ายเดิมและมีเส้นทางในหน้าที่การงานคล้ายเดิมหรือไม่? คำตอบก็คือใช่ หากแต่แทนที่เราจะพยายามหลบหนีออกจากภาระงานเพื่อแสวงหาการสร้างสมดุลของการใช้ชีวิตและการทำงาน (work/life balance) ในสังคมใหม่นี้มันจะหยิบยื่นเพียงเงื่อนไขเดียว นั่นคือให้เราได้ใช้ชีวิต ให้เราได้ใช้เวลาในชีวิตของเราไปกับกิจกรรมแห่งการใช้ชีวิต ใช้เวลาพักผ่อน, เลี้ยงลูก, สังสรรค์กับเพื่อนฝูง, พัฒนาตนเอง เคียงคู่ไปกับการทำงานที่ไม่อยู่ภายใต้ความกดดันจากระบบเศรษฐกิจและเป็นอิสระจากการแสวงหากำไร.

 

ต้นฉบับ : https://www.jacobinmag.com/2018/02/workweek-free-time-precarity-daylight-savings-time

 


บทความที่ได้รับความนิยม